'NewNormal' ด้านพลังงาน ปรับฐานคิดธุรกิจหลังโควิด

'NewNormal' ด้านพลังงาน ปรับฐานคิดธุรกิจหลังโควิด

โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้พลังงานของไทย ลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ นับเป็นวิกฤติครั้งสำคัญ ที่ภาคธุรกิจพลังงาน ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน จะต้องปรับตัวรับวิถีใหม่ หรือ New Normal ด้านพลังงาน

จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้ปรับตัวรับ New Normal ทั้งการผลิตไฟฟ้าและระบบส่ง ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีดิจิทัล โดยโรงไฟฟ้าได้จัดทำ Digital Power Plant และระบบส่ง ได้จัดทำ Digital Substation เพื่อให้ประชาชนได้ให้ไฟฟ้าที่มีคุณภาพ ไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าตกดับ

รวมถึง การซื้อขายไฟฟ้า ได้พัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ โดยจัดทำ Sandbox เพื่อทดสอบระบบการซื้อขายไฟฟ้าเสมือนจริง ถือเป็นการปรับตัวเข้าสู่การทรานส์ฟอร์มองค์กร (EGAT Transformation)พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินในระบบไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดภาระของประเทศ

บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.จึงได้จัดกำหนดกลยุทธ์ 4R คือ 1. Resillience ไม่ว่าจะเผชิญสถานการณ์แบบไหน ต้องทำให้สถานะการเงินอยู่ได้ 2.Restart ธุรกิจกลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด 3.Reimagination ระยะยาวออกแบบธุรกิจรองรับ Next Normal ทั้งธุรกิจ ต้นน้ำ ปลายน้ำ และ New S Curve และ4. Reform ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร ให้มีรูปแบบธุรกิจใหม่และเป็นบริษัทที่เข้มแข็ง

“ปตท.หันใช้ AI ทั้งการผลิตน้ำมัน เพื่อลดต้นทุน synergyร่วมกันในกลุ่มนำวัตถุดิบมาใช้ตั้งต้นด้านปิโตรเคมี ด้านเทรดดิ้ง ใช้ AI มาแมชชิ่ง การซื้อขายน้ำมัน ใช้สมดุลดีมานด์และซัพพลาย”

160120382638

ศิริเมธ ลี้ภาภร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรและบริหารบริษัทในเครือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า บริษัทฯ เล็งเห็นเป็นโอกาสจึงเดินหน้าแผนก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi Solid ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อเป็นเครื่องมือกักเก็บพลังงาน สร้างความเสถียรให้กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะยังช่วยลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่และทำหน้าที่ backup ระบบไฟฟ้าฯ และนำไปสู่ปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบที่เป็นภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าได้

ทั้งนี้ โรงงานแบตเตอรี่ จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตได้ในปีหน้า กำลังการผลิตระยะแรก อยู่ที่ 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) รวมถึงศึกษาร่วมกับ ปตท.ถึงโอกาสการยื่นขอรับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(LNG Shipper) เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าด้วย

160120387496

ปรียนาถ สุนทรวาะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ระบุว่า บริษัทเตรียมพร้อมแผนการลงทุนให้สอดรับใน 7 รูปแบบ คือ 1.การใช้พลังงานหมุนเวียน เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน มีสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ประมาณ 30% ของกำลังผลิตรวม อยู่ที่ 3,100 เมกะวัตต์

2.พลังงานที่เป็นฟอสซิล ยังต้องมีอยู่แต่น้อยลง 3.ผู้บริโภคต้องการพลังงานราคาถูก ทำให้โซลาร์รูฟท็อปจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น 4.การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ 

5. การกระจายตัวของระบบส่ง(Decentralized Grid) 6.ศึกษาเทคโนโลยี Hydrogen และ7.ศึกษาลงทุนพลังงานรูปแบบใหม่ทั้ง ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) และระบบกักเก็บพลังงาน(ESS) เป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งอุปสรรคและโอกาสหากปรับเพื่อรับโอกาสโมเดลธุรกิจหลังโควิดสามารถตอบและรับกับ‘นิวนอร์มอล’ด้านพลังงานได้ไม่ยาก