Multi-stage Life ชีวิตแห่งอนาคต สมดุลที่สร้างได้

Multi-stage Life ชีวิตแห่งอนาคต สมดุลที่สร้างได้

เมื่ออนาคตคนเรามีอายุยืนขึ้นเป็นร้อยปี เราจะไม่ได้ใช้ชีวิตแบบชีวิตสามขั้นอีกต่อไป เพียงแค่ศึกษาเรียนรู้ ทำงาน และใช้ชีวิต กลับกลายเป็นชีวิตหลากหลายขั้น การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่ความท้าทายแค่ตัวบุคคล แต่กำลังเป็นความท้าทายใหญ่ที่ภาครัฐทั่วโลกต้องเผชิญ

เด็กที่เกิดในวันนี้มีโอกาสมากกว่า 50% ที่จะมีอายุยืนเกิน 105 ปี ถ้าคนเรามีอายุยืนเป็นร้อยปี เราก็คงมีคำถามที่ตามมามากมาย เราจะรีบกันไปทำไม? ชีวิตเราจะเรียนรู้อยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมได้หรือ? เราจะเกษียณที่วัย 60 แล้วใช้เงินเก็บไปตลอดชีวิตได้หรือ? เราจะอยู่แบบสุขภาพดี อยู่อย่างไม่ลำบากและมีความสุขในชีวิตยืนยาวนานนี้ได้อย่างไร?

ไม่เพียงเท่านั้น อาชีพที่คนเราเคยคิดว่ามั่นคงจะยึดไว้หารายได้ตลอดชีวิต นั่นก็ไม่มั่นคงเสียแล้ว ทุกวันนี้คนเรายังไม่ได้แค่แข่งกันเองระหว่างคน เรายังมีหุ่นยนต์ เอไอทำงานมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนคนเรา อาชีพที่มีอยู่ในทุกวันนี้กำลังจะหายไปและถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ เอไอ เสียด้วย การจ้างงานคนเราจะลดลงจนกระทั่งอาจกลายเป็นไม่มีอาชีพ (Jobless)

ยุคที่ผ่านมาคนเราใช้ชีวิตแบบชีวิตสามขั้น (Three-Stage Life) คือศึกษาเรียนรู้ (Learning) ทำงาน (Working) ใช้ชีวิต (Living) เด็กต้องตั้งใจเรียนอย่างมุ่งมั่นเต็มที่เพื่อเรียนให้จบ คนทำงานต้องทำงานแข่งกับเวลา บ่มเพาะความเชี่ยวชาญในอาชีพ วางแผนชีวิตการทำงาน ชีวิตครอบครัว ตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินโดยมีเป้าหมายเอาไว้ใช้ชีวิตสบายๆ ยามเกษียณ

อนาคตจากนี้ไปคนเราจะใช้ชีวิตหลากหลายขั้น (Multi-stage Life) ชีวิตไม่ได้เรียงลำดับขั้นจากการเรียนหนังสือ ทำงาน เกษียณจบเป็นขั้นเป็นตอนเพียงเท่านั้นอีกต่อไป แต่อนาคตการเรียนรู้ การทำงาน การใช้ชีวิตอาจวนเวียนต่อเนื่องซ้ำไปซ้ำมาได้หรือข้ามขั้นไปมาก็ได้ เด็กเรียนไปสักพักอาจออกไปทำงานหาประสบการณ์ทำงานหรือใช้ชีวิตก่อน แล้วกลับมาเรียนต่อจนจบก็ได้ คนสูงอายุกลับมาเรียนใหม่ คนเกษียณแล้วมาหางานทำใหม่ มิตรภาพต่างวัยจะมีมากขึ้น คนต่างวัยอาจอยู่ในชีวิตขั้นเดียวกัน คนต่างรุ่นจะไม่ได้ต่างคนต่างอยู่อีกต่อไป

นอกจากนี้ ชีวิตมีคนมีหลากหลายมิติทั้งการเรียนรู้ การทำงาน รายได้ การเงิน สุขภาพ การใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ คุณค่าและสุนทรียภาพในการใช้ชีวิตแต่ละขั้นแต่ละมิติล้วนมีความสัมพันธ์กัน ต้องมีสมดุลระหว่างมิติด้วย เช่น การเรียนรู้สร้างทักษะก็สัมพันธ์กับการทำงาน การมีสุขภาพที่ดีนั้นนอกจากดูแลตัวเองแล้วก็เกี่ยวข้องกับมิติทางด้านการเงิน การทำงานเพื่อให้มีรายได้แล้วก็ยังเพื่อคุณค่าแก่ตนเองและสังคม เป็นต้น

ในระดับส่วนบุคคล เราต้องมุ่งมั่นเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) การเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะไม่มีวันสิ้นสุด แม้ว่าวันนี้คุณจะทำงานแล้ว เกษียณแล้วก็ต้องกลับมาเรียนรู้ใหม่ เพิ่มพูนทักษะ อัพเกรดทักษะ และสร้างทักษะใหม่แห่งอนาคต (Re-Skill, Up-Skill, New Skill) เราต้องเรียนรู้จักตัวเอง เติมทักษะสำคัญ ทักษะชีวิตให้กับตัวเอง ที่สำคัญคือความมุ่งมั่นในการเรียนรู้คนอื่นไปด้วย เรียนรู้การทำงานร่วมกันเพื่อจุดประกายและรักษาวงจรแห่งการเรียนรู้

วัยเด็กที่มีแต่เรียนเท่านั้น คนทำงานจนไม่มีเวลาใช้ชีวิต คนใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไม่ต้องเรียนรู้อะไรใหม่อีกแล้ว ชีวิตสามขั้นที่ขาดสมดุลแบบนั้นต้องจบลง เราต้องลงทุนในการเสริมสร้างทักษะ สุขภาพ และความสัมพันธ์ไปพร้อมๆ กัน การใช้ชีวิตหลากหลายขั้นของพวกเราจะต้องเน้นการสร้างสมดุลระหว่างเรื่องที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ สิ่งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินมากขึ้น

โลกใบนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไม่ใช่ความท้าทายแค่ลำพังตัวบุคคลแต่ละคนเท่านั้น แต่กำลังเป็นความท้าทายใหญ่ที่ภาครัฐทั่วโลกต้องเผชิญ รวมถึงประเทศไทยด้วย ตัวอย่างเช่น

  • นโยบายการศึกษาเรียนรู้ต้องก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง นโยบายการศึกษา การเรียนรู้จะต้องไม่ถูกจำกัดแค่ในรั้วโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาอีกต่อไป ไม่ใช่แค่เด็กๆ เท่านั้นที่ต้องเรียนรู้ ทุกๆ คนต้องเรียนรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน การเรียนแบบขอแค่ให้ได้ใบปริญญาไม่ตอบโจทย์โลกอนาคตอีกแล้ว การศึกษาและการฝึกอบรมในอนาคตจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้นและสามารถเตรียมคนทุกวัยให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

  • นโยบายด้านแรงงานและกำลังคนต้องเปลี่ยนไป นโยบายการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต การสร้างงานแห่งอนาคตเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน งานแห่งอนาคต (Future of Work) จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่าประเทศต้องการกำลังคนที่มีทักษะใหม่ๆ การพัฒนาทักษะต้องได้รับการสนับสนุนผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน โรงเรียน มหาวิทยาลัยและพื้นที่ แม้ว่ากำลังแรงงานจะลดลงจากการที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะถดถอยเสมอไป เราอาจยกระดับผลิตภาพจากเทคโนโลยีนวัตกรรม การทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ได้ แต่หากไม่สามารถทำได้เช่นนั้น ภาครัฐจะเผชิญกับความท้าทายใหญ่จากภาระทางการคลัง การเผชิญหน้ากับการจัดระบบสวัสดิการ

นอกจากนี้ การใช้ชีวิตหลากหลายขั้นทำให้ต้องปรับแผนทางการเงิน วางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรใหม่ หลายประเทศทั่วโลกเริ่มคิดว่ากำลังจะเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีแนวโน้มจะขยายกว้างขึ้นในหลายประเทศ ภาครัฐต้องจัดการประเด็นทางสังคมที่กว้างขึ้น การมีนโยบายและมาตรการช่วยคนที่ขาดโอกาสให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ได้รับโอกาสที่ยืดหยุ่นเพื่อชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ

การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นเป็นโอกาสในการมีชีวิตแห่งอนาคตที่สมดุล ภาครัฐเองก็ต้องออกแบบนโยบายใหม่ให้ทันกับอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เพราะประเทศกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยน ชีวิตหลากหลายขั้นของคนไทยสมดุลได้ อนาคตไทยก็สมดุลได้เช่นเดียวกัน