ยกระดับคุณภาพโรงเรียนลดความเหลื่อมล้ำ

ยกระดับคุณภาพโรงเรียนลดความเหลื่อมล้ำ

กสศ. เดินหน้าขับเคลื่อน "ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ" ตั้งเป้าพัฒนา รร.ขนาดกลาง 10% หวังผลใหญ่ มุ่งผลลัพธ์ 100% ยกระดับการพัฒนาทั้งประเทศ ด้าน นพ.วิจารณ์ ย้ำโรงเรียนพัฒนาตนเองทั้งระบบได้ต้องหนุนโรงเรียนสร้าง 5 คุณค่า

วันนี้ (26 ..) ที่โรงแรมทีเค.พาเลซฯ แจ้งวัฒนะ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดประชุมเรื่อง "ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ : ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน" ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP) เพื่อให้โรงเรียนขนาดกลาง จำนวน 290 แห่ง ใน 36 จังหวัดสามารถพัฒนาตนเองทั้งระบบ (Whole School Approach) ด้านการบริหารจัดการโรงเรียน และด้านการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 500 คน

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ. คาดหวังให้โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองทำให้การศึกษาระดับประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการประชุมระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเร็วๆ นี้สามารถสรุปประเด็นความก้าวหน้าและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรกมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ได้นำเสนอผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศไทยพบว่า มีปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนัก

160111135260

หากจะดึงให้เศรษฐกิจดีขึ้น ต้องดึงเด็กที่เรียนหนังสือไม่จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอยู่ 20% กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา จะสามารถดึงความถดถอยของเศรษฐกิจกลับมาได้ถึง 3% และหากทำให้โรงเรียนทั้งประเทศไทยสอบผ่านสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) จะดึงความถดถอยทางเศรษฐกิจของไทยได้ 5% ถ้าปีนี้ประเทศไทยติดลบทางเศรษฐกิจ 10% แล้วทำ 2 เรื่องนี้สัมฤทธิ์ผลจะดึงเศรษฐกิจของชาติได้ถึง 7-8% สิ่งที่ กสศ.ทำอยู่คือเรื่องคุณภาพการเรียนการสอน และการดึงไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา


นพ.สุภกร กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่สองเชื่อกันว่าประเทศที่ได้รับแรงสะเทือนจากโควิด-19 รุนแรง จะกลับมาได้แรงกว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อย เพราะประเทศเหล่านี้ต้องหานวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย แต่ครูและเด็กกลุ่มหนึ่งยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ส่วนประเด็นที่สาม สภามักถามเสมอว่าโครงการที่ดำเนินการอยู่เกิดผลลัพธ์อย่างไร

โรงเรียนขนาดเล็กอธิบายง่าย แต่โรงเรียนขนาดกลางอธิบายให้เห็นผลต้องบอกได้ว่าโรงเรียนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ไหนบ้าง เป็นเหตุผลสำคัญที่ กสศ. เลือกโรงเรียนขนาดกลางเข้าร่วมโครงการฯ 700 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 10 ของโรงเรียนทั้งประเทศ เพื่อให้เห็นตัวอย่างการดำเนินโครงการอย่างชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนและพัฒนาโรงเรียนที่เหลืออีกร้อยละ 90 ในอนาคต

160111138234

.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อ กล่าวว่า กรอบแนวคิดการสนับสนุนให้โรงเรียนเกิดการพัฒนาคุณภาพตนเอง และเกิดผลสำเร็จด้านการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ ใน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการระดับโรงเรียน และมาตรการระดับชั้นเรียน ซึ่งโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการพัฒนาโรงเรียนในชนบทที่มีนักเรียนด้อยโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้แก่ครู ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย

โดยการหนุนเสริมให้โรงเรียนสร้าง (Growth Mindset) ให้เกิดกับโรงเรียน ครู นักเรียนและเครือข่ายผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้รู้สึกว่าอยากพัฒนาตนเอง ผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เชื่อในตนเองมากกว่าเชื่อทฤษฎี และพึ่งตนเองมากกว่าพึ่งผู้อื่น ฉะนั้นคุณค่าโรงเรียนพัฒนาตนเอง ผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ 1.ยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งแนวกว้างและลึก 2.เป็น (learning platform) ของนักเรียน ครู ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง 3.สร้างกระบวนทัศน์พัฒนาแก่สังคมไทย 4.เชื่อมโยงสู่การพัฒนาระบบการศึกษาและ 5.เปลี่ยนชุดความคิดว่าด้วยการเรียนรู้

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า ปีการศึกษา 2562 กสศ. ได้สนับสนุนให้โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาขนาดกลาง 290 แห่ง เกิดการพัฒนาคุณภาพตนเองและการเปลี่ยนแปลงด้านระบบบริหารจัดการ ผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ซึ่งผลการประเมินพบว่า โรงเรียนมีการพัฒนาในระดับดีเยี่ยม 34 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 11.72 มีการพัฒนาในระดับดี 244 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 81-100 และอยู่ในระดับต้องปรับปรุง 12 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 4.14

ส่วนผลการประเมินสะท้อนถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของนักเรียน พบว่า นักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามผลลัพธ์ที่ตั้งร่วมกันไว้ (Core Learning Outcomes) ด้านทักษะมีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นร้อยละ 40.06 แบ่งเป็นด้านทักษะการคิดสร้างสรรค์มากที่สุด รองลงมาเป็นทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหาและวิพากษ์อย่างมีวิจารณญาณและทักษะการสื่อสาร ขณะที่ทักษะชีวิตมีค่าร้อยละการเปลี่ยนแปลงต่ำสุด ส่วนผลการประเมินด้านคุณลักษณะ มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นร้อยละ 27.63 แบ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านมีวินัยมากที่สุด รองลงมาคือมีความซื่อสัตย์และมีจิตสาธารณะ

160111142380

"สำหรับปี 2563 กสศ. จะดำเนินการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางเพิ่มอีก 443 แห่ง มีสถานศึกษาสังกัด สพฐ. อปท. และ สช. ร่วมด้วย และมีภาคีเครือข่ายใหม่ร่วมสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีก 6 เครือข่าย ทั้งนี้มุ่งหวังให้โรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้ ด้วยการคิดออกแบบวิธีการที่เหมาะสมสอดรับกับบริบทของโรงเรียนและใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย กสศ. พร้อมเป็นพลังหนุนเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนาไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างความเสมอภาค เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบร่วมกัน" ดร.อุดม กล่าว