เดิมพัน 'สงครามท้องถนน'

เดิมพัน 'สงครามท้องถนน'

ศึกรัฐธรรมนูญมาถึง “จุดแตกหัก” อีกครั้งหนึ่ง เมื่อที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติรับหรือไม่รับ 6 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 

การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุม เมื่อ 19 ก.ย.2563 ปิดฉายด้วยความงงๆ ของกองเชียร์เสื้อแดง แต่แกนนำอย่าง “เพนกวิน-รุ้ง” คงพึงพอใจ เพราะได้นำเสนอ เนื้อหาที่แหลมคม และก้าวหน้าที่สุดสู่สังคมไทย

 ยกถัดมา เป็นหน้าที่ของ คณะประชาชนปลดแอก” และ “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย” นัดหมายมวลชนไปรวมตัวที่ด้านหน้าอาคารรัฐสภา (เกียกกาย) เพื่อกดดันสภา เปิดทางแก้รัฐธรรมนูญ

 เป้าหมายของพวกเขาก็คือ ส.ว. เพียงแค่ได้เสียงจาก 84 ส.ว. ก็เป็นกุญแจไขไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. และร่างรัฐธรรมนูญใหม่

 ในมุมของ ส.ว.ประเมินสถานการณ์หลังม็อบ 19 กันยา ว่า พลังฝ่ายต้านประยุทธ์ ไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่คิด จึงมีท่าทีจะคว่ำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

 ฉะนั้น คณะประชาชนปลดแอก กับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย จึงผนึกกำลังกดดัน ส.ว.

 

 

จะว่าไปแล้ว คณะประชาชนปลดแอก โดยเนื้อแท้ก็คือ "กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยหรือเรียกย่อๆ ว่า DRG ก่อตั้งโดย โรมรังสิมันต์ โรม เมื่อปี 2559

 ถ้ายังจำกันได้ รังสิมันต์ โรม สมัยเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ได้ก่อตั้ง ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” (NDM) ที่มาจากหลายกลุ่มอาทิ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ กลุ่มกราฟก้าวหน้า มศว.ประสานมิตร และกลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา

 ที่เป็นดาวเด่นในวันนั้นคือ “ไผ่ ดาวดินจตุรภัทร บุญภัทรรักษา จากกลุ่มดาวดิน ม.ขอนแก่น

 หลังการชุมนุมใหญ่ปี 2558 โรมและเพื่อน ถูกจับกุม และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ขบวนการนักศึกษาเวลานั้น มีความขัดแย้งภายในกลุ่ม ปีถัดมา โรมแยกตัวออกมาตั้งกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)

 ปี 2560-2561 โรม ตั้งองค์กรเฉพาะกิจ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เคลื่อนไหวชุมนุมกดดันให้รัฐบาลประยุทธ์ เร่งจัดการเลือกตั้ง

 กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ได้รับการสนับสนุนจากคนเสื้อแดง อาทิ กลุ่มเส้นทางสีแดง (แดงปากน้ำ) กลุ่มแดงนครปฐม โดย “เจ๊เจี๊ยบ” อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และกลุ่มเสื้อแดงในกรุงเทพฯ

 เจ๊เจี๊ยบ นครปฐม” ให้การสนับสนุนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในทุกด้าน ทำให้เจ๊เจี๊ยบสนิทสนมกับกลุ่มเพื่อนโรมทุกคน

 เมื่อ “โรม” ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย จึงเป็นหน้าที่ของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว “ปอ” กรกช แสงเย็นพันธ์ และ “ธนพล พันธุ์งาม” สองนักกิจกรรมในนาม กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์

 รวมถึง “ทนายน้อย” อานนท์ นำภา ก็จัดอยู่ในกลุ่มเพื่อนโรม เพราะทุกคดีความในช่วงต้าน คสช. อานนท์ก็รับเป็นทนายว่าความให้

 ศึกรัฐธรรมนูญยกใหม่ จึงหนีไม่พ้นสงครามท้องถนน เมื่อกลุ่มเพื่อนโรม เข้ามาบัญชาการมวลชนนอกสภา