3 บก. ชำแหละ 3 เหตุผลม็อบ 19 กันยาฯ จุดไม่ติด

3 บก. ชำแหละ 3 เหตุผลม็อบ 19 กันยาฯ จุดไม่ติด

3 บก.ชำแหละ 3 เหตุผลที่ทำให้ "ม็อบ 19 กันยาฯ" จุดไม่ติด พร้อมเปิดมุมมองชุมนุมในเดือนตุลาคม จะเป็น "ตุลาเดือด" หรือไม่?

จากรายพูดตรงๆ กับ 3 บก. ที่ดำเนินรายการโดย นายสมชาย มีเสน นายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร และนายบากบั่น บุญเลิศ ได้วิเคราะห์การเมือง ภายหลังการชุมนุมของกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ว่า ตอนแรกประเมินว่า คนรู้สึกว่าคลายความกังวล เพราะ "ม็อบไม่ติด" เอาว่าคนมาร่วมไม่เกิน 5 หมื่น ราวๆ 3 หมื่นคน 

"ที่บอกว่าไม่ติด ไม่ติดด้วยสาเหตุหลักๆ ที่ฟันธง คือ 3 เรื่องที่ทำให้การชุมนุมไม่ตอบโจทย์ของตัวเอง ไม่ตอบโจทย์ของผู้เรียกร้อง ไม่ตอบโจทย์สังคม และคนที่ของเกมของการชุมนุมว่า ม็อบไปได้ ไม่ได้"

นายสมชาย มีเสน ฟันธงว่า 19 กันยายน ถือว่าเป็นการก้าวพลาดของม็อบ พลาดเพราะ

1.ผู้นำในการชุมนุม ไม่ใช่ผู้นำที่ได้รับการยอมรับของสังคม ในแง่คนชั้นกลาง อย่างนักทฤษฎีฝ่ายซ้ายของอิตาลีบอกว่า การที่จะทำให้ม็อบทุกม็อบได้รับชัยชนะ คนชั้นกลางต้องเห็นด้วย แต่นี่แกนนำม็อบไม่เป็นที่ยอมรับ

"อย่างเพนกวิน ทนายอานนท์ ถามว่านำไปแล้ว คนชั้นกลางเดินตามไหม นี่เป็นรายการที่พูดตรงๆ ไม่อ้อมค้อม คือแกนนำยังไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้ไม่สามารถหลอมรวมคนเข้ามาได้"

2.ประเด็นร่วมไม่มี เพราะถ้าย้อนกลับไปเดือนสิงหาคมที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ รังสิต มีการเรียกร้อง 10 ข้อ ที่มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก็เรียกร้อง 10 ข้อ และข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เมื่อ 10 สิงหาคม ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เพราะไม่ใช่การโฟกัสที่รัฐธรรมนูญ

ย้อนไปดูการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันนั้นเป็นอีกกลุ่มหนึ่งนำ กลุ่มนำนั้นเรียกร้อง 3 ข้อ กระแสแรงจนกระทั่งรัฐสภาเขย่าว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญจาก 3 ข้อเรียกร้อง คือ หยุดคุกคามประชาชน เป็นที่ยอมรับแก้รัฐธรรมนูญ เคยบอกแล้วว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นร่วม และให้นายกฯยุบสภา อย่างน้อยไม่ยอมรับทั้งหมด ก็มีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าเดิม

3.ก้าวล่วงสถาบัน ตอนแรกการชุมนุมดูมีคนเยอะ แต่พอก้าวล่วงพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปรากฏว่าคนเริ่มถอย พอมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคนเยอะ แล้วรู้สึกว่าเป็นประเด็นร่วม เพราะไม่มีการพูดถึงก้าวล่วงสถาบัน จนมีความขัดแย้งภายในในการเคลื่อนไหว

รายการ 3 บก.เคยบอกก่อนหน้านี้แล้ว อย่าไม่ก้าวล่วง ให้โฟกัส คุณจตุพร พรหมพันธุ์ ก็บอกว่าให้โฟกัสเฉพาะเรื่องของการเมือง นายกฯ รัฐสภา รัฐธรรมนูญ ว่าไปเลย เรื่องเศรษฐกิจก็ได้

นายบากบั่น บุญเลิศ กล่าวถึงคนที่มาร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักศึกษาว่า ดูปฏิกิริยาและพูดคุยกับคนแล้ว จำแนกได้ 3 กลุ่ม 

1.กลุ่มนักศึกษาในธรรมศาสตร์มาเยอะ แต่ไม่มีเครือข่ายจุฬาฯ รามคำแหง 

2.ประชาชนที่มีความรู้สึกว่าอยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลง

3.กลุ่มที่มากที่สุด คือ กลุ่มคนเสื้อแดงเก่าๆ และเข้าใจได้เลยว่าบางกลุ่มน่าจะเป็นกระบวนการจัดตั้งนำมาของนักการเมือง มาจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย

ส่วนที่มองว่าในเดือนตุลาคม จะเป็นตุลาเดือดนั้น นายสมชายระบุว่า พอม็อบจุดไม่ติด พรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสภาเริ่มชะล่าใจว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ต้องแล้วมั้ง ม็อบไม่ติด ม็อบไม่มีน้ำยา พอพูดกันอย่างนี้ญัตติในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ร่าง มาจากพรรคร่วมรัฐบาล 1 ร่าง พรรคเพื่อไทย 1 ร่าง และพรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ร่าง ไม่รับหมดเลย บอกให้ตั้งกรรมาธิการยื้อไปก่อน พอตั้งกรรมาธิการไปศึกษาญัตติ 1 เดือน อันนี้คือ "เกมยื้อ" ที่มาจากการประเมินม็อบ 19 กันยายนฯ

ย้อนรอยไปเมื่อปี 2535 เหมือนกันเด๊ะ คือ 1-4 พ.ค.2535 ชุมนุมสนามหลวง พอรัฐบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ม็อบหยุด แต่แล้วพรรคร่วมรัฐบาลตะบัดสัตย์ ไม่แก้ ม็อบมาใหม่ 17 พ.ค.

นายสมชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า "ผมกำลังบอกว่าการพิจารณาเมื่อคืนวันพฤหัส (24 กันยายน 2563) แล้วลงมติไปตั้งกรรมาธิการ อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ม็อบไม่ติด กลับมาติดได้"

ติดตามรายการได้ที่ : https://m.youtube.com/watch?feature=youtu.be&v=a7fFeNZqjt0