วัดใจ 'ประชาธิปัตย์' จุดแตกหักแก้รัฐธรรมนูญ

วัดใจ 'ประชาธิปัตย์' จุดแตกหักแก้รัฐธรรมนูญ

วัดใจ 'ประชาธิปัตย์' จุดแตกหักแก้รัฐธรรมนูญ ในสถานการณ์ตัดสินใจต่อจุดยืนประชาธิปัตย์ที่จะตัดสินใจ "ถอนสมอ" หรือไม่?

เป็นสถานการณ์ตัดสินใจต่อจุดยืนประชาธิปัตย์ จะตัดสินใจ "ถอนสมอ" หรือไม่

จากมติที่ประชุมรัฐสภาให้แต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาก่อนลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนเส้นต้านลงมติ "รับ-ไม่รับ" หลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ฉบับออกไปเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน ปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงนาทีนี้กลายเป็นชนวนลูกสำคัญที่ผลักดันให้การชุมนุมจากม็อบหลายกลุ่มกำลังก่อตัวครั้งใหญ่ในเดือน ต.ค.

ความเคลื่อนไหวจากกลุ่มแกนนำตั้งแต่ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และกลุ่มคณะประชาชนปลดแอก และแนวร่วมเครือข่ายย่อย กำลังประกาศเตรียมนัดระดมพล ชุมนุมกดดันรัฐบาลเพื่อจุดกระแสมวลชนไปจนถึงวันนัดพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ มาจนถึงสิ่งที่ "อานนท์ นําภา" ประกาศบนเวทีปราศรัยหน้ารัฐสภา หากภายในเดือน ต.ค.นี้ ไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน ขอให้มวลชนต่างจังหวัดเดินทางมาร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯได้ทันที

เมื่อข้อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ซึ่งอยู่ในช่วง "หัวเลี้ยวหัวต่อ" ได้ถูกซื้อเวลาออกไป ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับยังอยู่ในสภาฯ จะเป็นช่วงสถานการณ์ที่เริ่มสุกงอม ระหว่างฝ่ายรุกโดยกลุ่มมวลชน และฝ่ายรับที่มาจากเสียง ส.ส.และส.ว.ฝั่งรัฐบาล

แต่หากย้อนไปถึงค่ำคืนชี้เป็นชี้ตายต่อการ "ยื้อ" ลงมติแก้รัฐธรรมนูญที่มาจากเสียง ส.ส.ประชาธิปัตย์พบว่า นอกจาก "ชวน หลีกภัย" ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานรัฐสภา ลงมติ "งดออกเสียง" แต่กลับพบชื่อ 2 ส.ส.ประชาธิปัตย์ตั้งแต่ "ชุมพล จุลใส" ส.ส.ชุมพร และ "อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์" ส.ส.ราชบุรี และรองโฆษกพรรค กลับลงมติสนับสุนนตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

แต่ 2 เสียงเห็นด้วยครั้งนี้กลับ "สวนทาง" กับ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" หัวหน้าและเสียงส่วนใหญ่จากคนในพรรค ที่คัดค้านการตั้งกรรมาธิการฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่รัฐบาลต้องจริงใจเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ตามที่เคยประกาศนโยบายไว้กับรัฐสภา

วัดใจ \'ประชาธิปัตย์\' จุดแตกหักแก้รัฐธรรมนูญ

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ส.ส.ปชป.อยู่ในภาวะเสียงแตก แต่ครั้งนี้เป็นสถานการณ์ "แตกแถว" ในฐานะที่ประชาธิปัตย์ เพราะก่อนหน้านี้ "ลูกหมี" ยืนยันในที่ประชุมพรรคเมื่อ 22 ก.ย.จะใช้สิทธิ์ "ไม่โหวต" สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จากที่เคยเป็นผู้รณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยตนเอง 

แต่เมื่อถึงนาทีที่พรรคการเมืองในสภาฯ ต้องเสนอ 3 รายชื่อ ส.ส.ตัวแทนพรรคการเมือง ประชาธิปัตย์จึงต้องโดดเข้าร่วมส่งชื่อ ประกอบด้วย 1.นายอิสสระ สมชัย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 2.นายอัครเดช และ 3.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล เพื่อเข้าไปนั่งเก้าอี้ กรรมาธิการเกาะติดความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จนถึงขณะนี้กลับเป็นแรงบีบทางการเมืองไปถึงประชาธิปัตย์ จะร่วมสังฆกรรมรัฐบาลต่อไปหรือไม่ ตามเงื่อนไขที่แลกกับพรรคพลังประชารัฐร่วมรัฐบาล เพราะหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับถูกคว่ำจากเสียงที่ประชุมรัฐสภาจริงๆ ไม่ใช่แค่สถานการณ์วัดใจวิกฤติรอบใหม่นอกสภาเท่านั้น แต่เป็นแรงบีบที่ "ประชาธิปัตย์" ต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองไปด้วย

เมื่อก่อนหน้าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พุ่งเป้าไปที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ เคยมีเสียงกดดันจาก ส.ส.ประชาธิปัตย์ ให้กลับมาพิจารณาท่าทีร่วมรัฐบาล จากเงื่อนไข 3 ข้อ 1.รับนโยบายประกันรายได้ 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.มีการทุจริตคอร์รัปชัน มาจนถึงระเบิดลูกใหญ่ที่ "พนิต วิกิตเศรษฐ์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ เคยออกตัวประกาศว่า ถึงเวลาต้องตัดสินใจไม่พายเรือให้โจรนั่ง

แหล่งข่าวระดับกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า จากการลงมติเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ประชาธิปัตย์ยืนยันโหวตสวนกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเป็นจุดยืนของพรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่คิดว่าจะมีการยื้อออกไป อยากให้พรรคพลังประชารัฐและสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นปัญหาจริงๆ ดังนั้นไม่ต้องรอให้มีสถานการณ์ที่ต้องลุกขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมาจากการยอมรับของทุกพรรคการเมือง

วัดใจ \'ประชาธิปัตย์\' จุดแตกหักแก้รัฐธรรมนูญ

"จากนี้ต้องพูดคุย เพราะสุดท้ายก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ การยื้อเวลาต่อไปถือว่าไม่มีประโยชน์ วันนี้ถ้าจริงใจแก้ปัญหาของประเทศ จะไม่มีอะไรบานปลายจากทั้ง 2 ฝ่าย แต่อย่าขยายประเด็นในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมือง"

แหล่งข่าวรายนี้ระบุว่า หากหลังจากนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับตกไปเชื่อว่าจะมีความวุ่นวายตามมา เพราะต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา ไม่เป็นไปตามหลักการ และไม่ถูกต้อง เหมือนกับการต่อสวิตช์ไฟผิดก็ไม่ต้องรอเปิดไฟเพื่อดูว่าไฟจะช็อตหรือไม่ แต่ถ้าเห็นวิธีผิดแล้วก็ต้องแก้ไข โดยไม่ต้องรอให้ความเสียหายเกิดขึ้นก่อน ดังนั้นจากนี้ไม่ว่าพรรคจะตัดสินใจอย่างไรก็มีคำตอบของพรรค ถ้าเป็นเงื่อนไขเข้าร่วมกับรัฐบาล 

"ประชาธิปัตย์ผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปหากยังไม่มีคำตอบชอบธรรมว่าเหตุถึงไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ผ่านการศึกษามาแล้ว ซึ่งพรรคยืนยันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางให้มี สสร. เพื่อแก้ไขประเด็นที่เป็นปัญหาโดยผ่านกระบวนการที่สังคมยอมรับ ไม่ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เกิดปัญหาขึ้นอีก จึงไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมจะไม่แก้ไข"

ทั้งหมดเป็นสถานการณ์ตัดสินใจต่อจุดยืนประชาธิปัตย์ ตามลั่นวาจาไว้ต่อการเข้าร่วมรัฐบาลจะตัดสินใจ "ถอนสมอ" หรือไม่ หากปลายทางการแก้รัฐธรรมนูญมีอันเป็นไปจากนี้