ยุโรปเจอศึกสองด้าน"ศก.ถดถอยซ้ำซ้อน-โควิดรอบใหม่”

ยุโรปเจอศึกสองด้าน"ศก.ถดถอยซ้ำซ้อน-โควิดรอบใหม่”

นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักคาดการณ์ตรงกันว่า ยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน หรือ double-dip recession

ตอนนี้ ยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับศึกสองด้านนั่นคือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน หรือ double-dip recession และการระบาดระลอกสองของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 จากการที่หลายประเทศเริ่มหวนกลับมาดำเนินมาตรการคุมเข้มและเลื่อนการเปิดประเทศ ทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์กำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจยุโรปจะฟื่้นตัวในไตรมาสสองของปีนี้

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน หมายถึง สถานการณ์ที่เศรษฐกิจถดถอยไปแล้ว และมีการฟื้นตัวขึ้นมาระยะหนึ่ง แต่เนื่องด้วยภาวะถดถอยนั้นอาจจะส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงานหรือการใช้จ่ายในประเทศหดตัวเป็นอย่างมาก จนทำให้เศรษฐกิจต้องชะลอตัวลงมาจนติดลบอีกครั้ง ซึ่งเมื่อลากเส้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงภาวะดังกล่าวจะมีจุดต่ำสุด 2 ครั้งในเวลาใกล้เคียงกัน มีรูปร่างคล้ายตัว “W” ด้วยเหตุนี้ บางครั้งก็มีการเรียกภาวะ double-dip recession ว่าเป็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจแบบ W-shaped ได้เช่นกัน

รัฐบาลหลายประเทศในยุโรป กำลังประกาศมาตรการคุมเข้มพร้อมทั้งล็อกดาวน์ประเทศรอบใหม่ หรือไม่ก็เลื่อนการเปิดประเทศออกไป หลังจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสต้นตอโรคโควิด-19เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศเตือนของประเทศต่างๆจะคล้ายกับที่สหราชอาณาจักร ที่รัฐบาลประกาศเมื่อวันอังคาร(22 ก.ย.)ให้ผับและร้านอาหารทุกแห่งปิดให้บริการเร็วขึ้นและให้พนักงานของบริษัททุกแห่งทำงานจากที่บ้านหากว่าเป็นไปได้แทนที่จะออกมาสร้างความแออัดในที่ทำงาน

“คาธาล เคนเนดี้” นักเศรษฐศาสตร์ประจำภาคพื้นยุโรปของอาร์บีซี ให้ความเห็นว่า กฏข้อบังคับใหม่ของสหราชอาณาจักรจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบริการและจะทำให้กิจกรรมทางธุรกิจชลอตัวลงในไม่กี่เดือนข้างหน้า​

ตอนนี้ ยุโรป กำลังรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกสองของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งหากมีการแพร่ระบาดระลอกสองจริง จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปได้รับความเสียหายมากขึ้น โดยประเทศในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งใช้สกุลเงินเดียวร่วมกัน คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ในไตรมาส2ของปีนี้จะหดตัวประมาณ 11.8%เพราะผลพวงจากมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆด้วยความหวังว่าจะช่วยสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้

ที่ผ่านมา บรรดานักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้แต่จากสถานการณ์ตอนนี้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์อาจจะต้องคาดการณ์ใหม่ เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศประกาศมาตรการคุมเข้มครั้งใหม่ หรือไม่ก็ชลอแผนเปิดประเทศออกไปก่อน เพราะเห็นว่า ประเทศยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ เนื่องจากยังคงมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าเศรษฐกิจของยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอยซ้ำซ้อนในไตรมาส4”คาร์สเทน เบอร์เซสกี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากไอเอ็นจี ให้ความเห็น พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าจะมีการล็อกดาวน์จากประเทศต่างๆในยุโรปเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยเฉพาะมาดริด สเปน และลิยง ฝรั่งเศส

ความเห็นของเบอร์เซสกี้ สอดคล้องกับความเห็นของคริส วิลเลียมสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอส มาร์กิต ที่บอกว่ามีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจยุโรปจะเผชิญภาวะถดถอยซ้ำซ้อนในไตรมาส4 โดยข้อมูลทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ สะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปในเดือนก.ย.ชะงักงัน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ)ของกลุ่มประเทศยูโรโซน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดทั้งภาคการผลิตและภาคบริการอยู่ที่ 50.1 ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ3เดือน

“ขณะที่เรากำลังจะเข้าสู่ช่วงไตรมาส4 หลายประเทศก็ประกาศมาตรการคุมเข้มด้านต่างๆมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคทำให้เศรษฐกิจชลอการเติบโต”วิลเลียม กล่าวเพิ่มเติม

ความวิตกกังวลว่าจะเกิดภาวะช็อคทางเศรษฐกิจเพราะผลพวงจากมาตรการคุมเข้มรอบใหม่ ทำให้หุ้นยุโรปปรับตัวร่วงลงอย่างมากในสัปดาห์นี้

“การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นความเสี่ยงหลักที่จะสกัดกั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้และความเสี่ยงนี้ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”โฮลเจอร์ ชไมดิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเบเรนเบิร์ก ให้ความเห็น​

ตลาดหุ้นยุโรปปิดตลาดเมื่อวันที่24 ก.ย. ปรับตัวลง เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาท่ามกลางความวิตกว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากโรคโควิด-19 ระบาดรอบสองในหลายประเทศ และตลาดยังถูกกดดันจากการที่ยังไม่มีการออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจครั้งใหม่ในสหรัฐ

ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 1.02% ปิดที่ 355.85 จุด ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,762.62 จุด ลดลง 39.64 จุด หรือ -0.83%, ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,822.78 จุด ลดลง 76.48 จุด หรือ -1.30% และดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,606.57 จุด ลดลง 36.40 จุด หรือ -0.29%

ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. เพราะถูกกดดันจากการร่วงลงของตลาดหุ้นทั่วโลก โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของยุโรปเผชิญแรงขายเช่นเดียวกับในตลาดสหรัฐ และหุ้นที่อ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ อาทิ กลุ่มการเดินทาง รวมถึงกลุ่มน้ำมันและก๊าซ ก็ร่วงลง

การออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งใหม่ในประเทศยุโรปต่างๆ กดดันตลาด เนื่องจากนักลงทุนมองว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายหุ้นออกมาหลังจากผิดหวังที่สหรัฐยังไม่สามารถออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจรอบใหม่เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาด

หุ้นแอร์บัส, หุ้นซาฟราน และหุ้นโซซิเอเต เจเนอราล ของฝรั่งเศส ร่วง 3.46%, 3.40% และ 2.61% ตามลำดับ ขณะที่หุ้นอาดิดาส และหุ้นไบเออร์สดอร์ฟ ของเยอรมนี ปรับตัวลง 2.04% และ 1.90% ตามลำดับ

ส่วนหุ้นซีนเวิลด์ของอังกฤษ ร่วง 14.8% หลังเปิดเผยว่าบริษัทประสบปัญหาขาดทุนและอาจต้องเพิ่มทุน หากถูกสั่งปิดโรงภาพยนตร์อีกครั้งตามมาตรการควบคุมของรัฐบาลอังกฤษเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19