“ค่ายรถญี่ปุ่น”จ่อช้ำหนักแคลิฟอร์เนียห้ามขายรถใช้น้ำมัน

“ค่ายรถญี่ปุ่น”จ่อช้ำหนักแคลิฟอร์เนียห้ามขายรถใช้น้ำมัน

เพื่อรับมือกับผลพวงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น หลายประเทศพยายามลดการใช้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก รวมถึงน้ำมัน ล่าสุด รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ ประกาศจะห้ามขายรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่ปี 2578 เป็นต้นไป

“กาวิน นิวซัม”ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ลงนามคำสั่งผู้บริหารเมื่อวันพุธ(23ก.ย.) ห้ามไม่ให้มีการขายรถยนต์ส่วนตัวและรถกระบะที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ตั้งแต่ปี 2578 หรือในอีก 25 ปีข้างหน้า โดยคณะกรรมการทรัพยากรอากาศของรัฐแคลิฟอร์เนียจะออกข้อกำหนดที่บังคับให้รถยนต์และรถกระบะที่จะขายในท้องตลาดตั้งแต่ปี 2578 เป็นต้นไป ต้องไม่ปล่อยก๊าซที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง35%

นอกจากนี้ คณะกรรมการดังกล่าวยังวางแผนจะผลักดันให้ยานพาหนะขนาดกลางและขนาดใหญ่ปรับเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ที่ไม่ปล่อยก๊าซพิษให้ได้เท่าที่สถานการณ์เอื้ออำนวยภายในปี 2588 ด้วย แต่ข้อกำหนดดังกล่าว ไม่ได้ห้ามให้ชาวแคลิฟอร์เนียเป็นเจ้าของรถที่ใช้น้ำมันหรือซื้อขายรถดังกล่าวในตลาดมือสองแต่อย่างใด

ตลาดรถยนต์แคลิฟอร์เนีย เป็นตลาดรถยนต์ใหญ่สุดในสหรัฐ โดยเมื่อปีที่แล้ว มียอดจำหน่ายรถยนต์จำนวนกว่า 1.89 ล้านคัน ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู)ประกาศแผนคล้ายๆกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายในเรื่องนี้มีนัยสำคัญต่อบรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ที่จำหน่ายรถยนต์ในรัฐแคลิฟอร์เนียและในอียูรวมกันแล้วจำนวนมากถึง50%

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีอิทธิพลทั้งตลาดในประเทศและระดับโลก ซึ่งกฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่รัฐบาลกลางของสหรัฐเป็นผู้กำหนด รัฐแคลิฟอร์เนียมีสำนักงานที่จะกำหนดกฏข้อบังคับในการปล่อยไอเสียของรถยนต์ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ที่รัฐอื่นๆในสหรัฐอาจทำตาม

“การค่อยๆเลิกใช้รถยนต์กินน้ำมัน มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้รัฐอื่นๆในสหรัฐ ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน และท้ายที่สุดทั้งประเทศจะดำเนินในเรื่องนี้อย่างกล้าหาญโดยพร้อมเพรียงกัน”นิวซัม กล่าว

อย่างไรก็ตาม คำประกาศนี้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ถูกกระแสต่อต้านจากบรรดาผู้ผลิตรถยนต์จำนวนมาก โดยพันธมิตรเพื่อนวัตกรรมรถยนต์(เอเอไอ) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสมาชิกหลากหลายกลุ่ม รวมทั้งผู้เล่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น ยุโรปและในสหรัฐ ได้ออกแถลงการณ์หลังจากผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า อุตสาหกรรมรถยนต์อยากเห็นรถยนต์ไฟฟ้าประสบความสำเร็จในตลาด แต่คำสั่งห้ามนี้ไม่ช่วยให้เกิดความสำเร็จในการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า

คำประกาศของรัฐแคลิฟอร์เนียสร้างปัญหาแก่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ที่ผลิตรถไฟฟ้าให้ตลาดสหรัฐ ซึ่งแน่นอนว่า รวมถึงค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นจำนวนมาก อย่างกรณี ซูบารุ ที่ยังคงเน้นทำยอดขายเครื่องยนต์“บ็อกซ์เซอร์”ที่เป็นเหมือนซิกเนเจอร์ของบริษัทและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวอเมริกันจำนวนมาก อีกทั้ง นับจนถึงขณะนี้ ตลาดอเมริกาเหนือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของซูบารุ ทำยอดขายให้บริษัทประมาณ 70% ของยอดขายโดยรวม

ซูบารุ มีแผนเปิดตัวรถไฟฟ้าที่เป็นการพัฒนาร่วมกับโตโยต้า มอเตอร์ ในปีนี้ โดยผู้บริหารของซูบารุ มองว่า กฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรสนิยมของผู้ขับรถ ถือเป็นประเด็นสำคัญ และบริษัทกำลังจับตามองแนวโน้มนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่มาสด้า มอเตอร์ เตรียมวางจำหน่ายรถไฟฟ้ารุ่น เอ็มเอ็กซ์-30 รุ่นแรกในยุโรปและในญี่ปุ่นแต่ยังไม่ตัดสินใจที่จะวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐ ส่วนโตโยต้า ที่ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ1ในแคลิฟอร์เนีย มีแนวโน้มว่าจะต้องปรับกลยุทธใหม่ โดยที่ผ่านมา โตโยต้า เน้นขายรถไฮบริดในตลาดอเมริกาเหนือแต่กฏระเบียบใหม่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า ไม่นับรถไฮบริดเป็นรถที่ปล่อยไอเสียศูนย์เปอร์เซ็นต์ ส่วนรถไฟฟ้าของโตโยต้า ทำยอดขายในตลาดสหรัฐได้ 11.5% เมื่อปีที่แล้วและเกือบทั้งหมดเป็นรถไฮบริด

ส่วนยอดขายรถขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิง ที่โตโยต้าฝากความหวังในฐานะเป็นรถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมานาน ทำยอดขายได้น้อยจากหลายเหตุผล ซึ่งรวมถึง ราคารถที่แพง และโครงสร้างพื้นฐานของเชื้อเพลิงชนิดนี้ที่ยังไม่แพร่หลาย ทำให้การสนับสนุนรถยนต์ปล่อยไอเสียศูนย์เปอร์เซนต์ที่รวมถึงรถไฟฟ้ายังคงต้องได้รับการผลักดันอย่างจริงจังต่อไป