ไอเอ็มเอฟเล็งเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลก

ไอเอ็มเอฟเล็งเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลก

โฆษกไอเอ็มเอฟเผย แนวโน้มเศรษฐกิจโลกดูดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดืิอนมิ.ย. เดือนหน้าอาจปรับเพิ่มตัวเลขจีดีพี

นายแกร์รี ไรซ์ โฆษกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (25 มิ.ย.) ตามเวลาสหรัฐ ระบุ ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจอาจไม่แย่เท่าที่คาดการณ์ไว้ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเผยแพร่เมื่อเดือนมิ.ย. เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ทั่วโลกกำลังเริ่มผ่านพ้นจุดวิกฤติ

ทั้งนี้ เมื่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ระบาดไปทั่วโลก นักเศรษฐศาสตร์จำต้องปรับเปลี่ยนคาดการณ์เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับไอเอ็มเอฟจะปรับปรุงรายงานอีกครั้งในวันที่ 13 ต.ค. แต่นายไรซ์ไม่ได้เผยรายละเอียดตัวเลขรอบใหม่

รายงานฉบับเดือน มิ.ย. ไอเอ็มเอฟกล่าวว่า จีดีพีโลกจะลดลง 4.9% และโควิดจะทำลายเศรษฐกิจเสียหาย 12 ล้านล้านดอลลาร์ในเวลา 2 ปี

อย่างไรก็ตาม นายไรซ์กล่าวว่า จีนและเขตเศรษฐกิจก้าวหน้าบางแห่งสร้างผลงานได้ดีเกินคาดในไตรมาส 2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการคลายล็อกดาวน์ หลังจากที่เกือบล็อกดาวน์ทั้งหมดมาก่อนหน้านั้น

“เรายังเห็นสัญญาณการค้าโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ด้วย ผมขอย้ำว่าเรายังไม่พ้นความยากลำบาก” นายไรซ์กล่าวและว่า อนาคตเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่งต่อตลาดเกิดใหม่ที่ต้องเผชิญสถานการณ์ล่อแหลมจากโควิด-19

เหล่านักเศรษฐศาสตร์ยังกังวลด้วยว่า การติดเชื้อระลอก 2 จะทำลายเศรษฐกิจ รัฐบาลหลายประเทศ เช่น อังกฤษและฝรั่งเศส เพิ่งออกข้อจำกัดมาใช้อีกรอบเมื่อไม่กี่วันก่อน แต่ควบคุมน้อยกว่ารอบก่อน

นายไรซ์กล่าวต่อว่า ครัวเรือนและธุรกิจในสหรัฐต้องเจอความท้าทายต่อไป และส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจต้องการการสนับสนุนทางการเงินมากขึ้น

ที่สหรัฐการเจรจาชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ยังคงไม่ได้คำตอบ ในช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ต้องเลือกตั้งวาระ 2 ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ไม่กี่วันก่อน นางคริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ และน.ส.จิตา โกปินาถ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ เขียนบทความว่า รัฐบาลนานาประเทศควรสนับสนุนแรงงานและภาคธุรกิจต่อไป เนื่องจากด้วยลักษณะของวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ อาจทำให้บริษัทล้มละลายมหาศาลและทำลายการจ้างงาน

“อีกนานกว่าวิกฤตินี้จะจบ การฟื้นตัวยังคงเปราะบางมากและไม่เท่าเทียมกันระหว่างพื้นที่และธุรกิจภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างหลักประกันว่าการฟื้นตัวดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มาตรการสนับสนุนที่ให้มาจะต้องไม่ถูกยกเลิกไปก่อนเวลาอันควร แม้โลกเรียนรู้การอยู่ร่วมกับไวรัสแล้ว แต่การฟื้นตัวเต็มที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้โดยปราศจากทางออกทางการแพทย์ที่ถาวร” สองผู้บริหารไอเอ็มเอฟตั้งข้อสังเกต