โนมูระเตือน‘ประท้วง’ขวางเศรษฐกิจไทยฟื้น

โนมูระเตือน‘ประท้วง’ขวางเศรษฐกิจไทยฟื้น

ในช่วงที่การประท้วงเกิดขึ้นต่อเนื่องทั่วประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งจากโนมูระเตือนว่า ความไม่สงบอาจขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

ยูเบน พาราคิวเลส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แผนกอาเซียน จากบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ เผยกับรายการ “Street Signs Asia” ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี เมื่อวันพฤหัสบดี (24 ก.ย.) ตามเวลาสหรัฐว่า การประท้วงถ้าไม่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยหยุดชะงักก็อาจต้องล่าช้าออกไป แม้ว่าไทยค่อนข้างประสบความสำเร็จในการหน่วงเชื้อโควิด-19 ก็ตาม

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานว่า ไทยต้องเจอกับความวุ่นวายทางเมืองเสมอ เป็นประเทศหนึ่งที่ทหารทำรัฐประหารมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่

พาราคิวเลส กล่าวด้วยว่าถ้ามองย้อนไปในอดีตความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น มีแนวโน้มส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจหรือการลงทุนโดยรวม ซึ่งอาจส่งผลต่อนโยบายการคลังที่สำคัญทั้งหมด

“ในช่วงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ค่อนข้างอ่อนแรง ผมคิดว่าต้องขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลสามารถใช้จ่ายเงินได้มากแค่ไหน และด้วยความไม่แน่นอนทางการเมือง ผมคิดว่าอาจจะมีความเสี่ยง” นักเศรษฐศาสตร์โนมูระกล่าว ในวันที่ ธปท.คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.5%

ปัจจุบันโนมูระค่อนข้างระมัดระวังกับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่า ปีนี้จะหดตัวลง 7.6%

“อ่อนแอที่สุดในภูมิภาคทั้งๆ ที่จัดการกับโควิดได้ค่อนข้างดี” นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ย้ำ ส่วน ธปท. ประเมินว่า ปีนี้จีดีพีไทยหดตัว 7.8%

ไม่เพียงเท่านั้นพาราคิวเลสยังมองว่า เศรษฐกิจอ่อนแอเพราะปัญหาเชิงโครงสร้างมากมาย เป็นปัญหาที่มีมาก่อนจะเกิดโควิดด้วยซ้ำ

“ตัวอย่างเช่น การพึ่งพาการท่องเที่ยวหนักมากและยังไม่มีทีท่าฟื้นตัวได้ในเร็วๆ นี้ ได้สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจไทย ลามไปถึงภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจที่ตอนนี้ต้องเจอกับหลายๆ ปัญหา ตั้งแต่สังคมผู้สูงอายุไปจนถึงขาดความสามารถในการแข่งขัน” นักเศรษฐศาสตร์กล่าวและว่า รัฐบาลไทยยังมีโอกาสทางการคลังอยู่เล็กน้อย แม้ว่าปัญหาจะอยู่ที่การปฏิบัติ สำหรับปีงบประมาณนี้ รัฐบาลใช้เงินไปเพียง 45% จาก 60% ที่กู้ยืมมา คิดเป็นเงินราว 1 ล้านล้านบาท โนมูระคาดว่ารัฐบาลจะใช้เงินน้อยกว่าที่มีไปจนถึงปีงบประมาณหน้า

ส่วนความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้น มีความเสี่ยงว่ารัฐบาลอาจพึ่งมาตรการประชานิยมมาจูงใจผู้ประท้วง แต่ถึงขณะนี้ยากจะบอกได้ว่าใช้ได้ผลแค่ไหน ส่วนข้อเรียกร้องของนักศึกษาก็ทำได้ยากมาก เรียกร้องในสิ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในประเทศไทย ดูแล้วเป็นกระบวนการอันยาวนาน การเมืองถึงทางตันไปอีกยาว

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยถูกต่างประเทศจับตามองมากโดยเฉพาะในประเด็นพึ่งพาการท่องเที่ยว และการประท้วงที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ เดือนก่อน อเล็กซ์ โฮล์มส จากแคปิตอลอีโคโนมิกส์ ในสิงคโปร์กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยไม่ได้ลดลงมากเหมือนเพื่อนร่วมภูมิภาคบางราย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ที่เศรษฐกิจแย่ลงมากกว่า

“แต่ในอนาคต ไทยยังเป็นอีกหนึ่งประเทศที่แย่สุดในภูมิภาคนี้ เพราะไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว” นักวิเคราะห์รายนี้ย้ำ

ปีนี้ไทยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือน 40 ล้านคน แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนแรกที่เสียหายจากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลกในเดือน มี.ค. เมื่อนักท่องเที่ยวไม่มาภาคบริการ ภาคบันเทิง ค้าปลีก โรงแรม และร้านอาหารบอบช้ำหนัก

รัฐบาลพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยการเตรียมงบประมาณส่วนหนึ่งจากชุดมาตรการทางการเงินในเดือน พ.ค. ให้เป็นทุนสำหรับการท่องเที่ยว

แต่ธนาคารกรุงศรีอยุธยารายงานว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงซบเซาเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติแทบเป็นศูนย์ อำนาจซื้อในประเทศลดลง

เอเอฟพีระบุว่า เศรษฐกิจที่่ร่วงลงอย่างไม่มีจุดจบ เป็นตัวเร่งให้เกิดการประท้วงนำโดยนักศึกษาขึ้นแทบทุกวัน ต่อต้านรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ตัวเลขจากรัฐบาลคาดการณ์ว่า โควิดระบาดอาจทำให้คนว่างงาน 8.4 ล้านคน เท่ากับว่าการจ้างงานที่เพิ่มมาตลอด 20 ปีเลือนหายไปหมด

ด้าน โฮวี ลี นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโอซีบีซีในสิงคโปร์ กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ความเลวร้ายสุดๆ ดูเหมือนจะจบแล้ว แต่ยังไม่มีเหตุผลให้เปิดแชมเปญฉลอง “จากจุดนี้เราคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับความท้าทายนานัปการที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญ”

ทามารา แมสต์ เฮนเดอร์สัน นักเศรษฐศาสตร์อาเซียนของบลูมเบิร์ก ระบุ “เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ไม่ได้หดตัวแย่อย่างที่กลัว และไม่ดิ่งลึกเท่ากับ 5 ชาติอาเซียนส่วนใหญ่ประสบ กระนั้น การฟื้นตัวดูเหมือนจะอยู่อีกไกล เผลอๆ ครึ่งปีหลังอาจเป็นแค่การหดตัวตื้นๆ ส่วนการท่องเที่ยวที่คิดเป็นเกือบ 20% ของเศรษฐกิจไทย ยังไม่มีทีท่ากลับสู่ระดับปกติก่อนปี 2565”

บลูมเบิร์กรายงานด้วยว่า การประท้วงในไทยมาแรงขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจ

“ไม่เพียงแต่การท่องเที่ยวที่หดตัวยืดเยื้อ เหตุประท้วงก็อาจบั่นทอนความรู้สึกนักลงทุนด้วย นอกเหนือจากแนวโน้มการบริโภคที่เปราะบางไปเรียบร้อยแล้ว” ลี จากโอซีบีซีให้ความเห็น