3 บ.ก. ฟันธงตั้ง กมธ.ศึกษา ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ โหมไฟ ‘ม็อบ’ รอบใหม่

3 บ.ก. ฟันธงตั้ง กมธ.ศึกษา ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ โหมไฟ ‘ม็อบ’ รอบใหม่

3 บก.ฟันธง ตั้ง กมธ.ศึกษา “แก้รัฐธรรมนูญ” โหมไฟม็อบรอบใหม่ ปลุก “นักศึกษา-ประชาชน” ชุมนุมไล่รัฐบาล ชี้ ปชป.เข้าตาจนผูกปมลาออกพรรคร่วม จับตา “บิ๊ก ป.” ตั้งพรรคใหม่ ทิ้งสามมิตรคุม พปชร.

รายการพูดตรงๆ กับ 3 บก. ซึ่งดำเนินรายการโดย นายสมชาย มีเสน นายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร นายบากบั่น บุญเลิศ วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติให้ตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า สถานการณ์ที่ทำให้เกิดการตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกิดจาก ส.ว.ส่วนใหญ่ ไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีไม่เกิน 30 เสียงที่จะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่จำเป็นต้องมีเสียง ส.ว. อย่างน้อย 84 เสียง ดังนั้นหากโหวตก็มีความเป็นไปได้สูงที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะถูกตีตกทุกญัตติ ที่สำคัญพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปลี่ยนใจ โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค พปชร.

ฉะนั้นเกมการเมืองหลังจากนี้ต้องจับตาท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งโหวตสวนมติของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแกนนำพรรค ปชป.เรียกประชุมภายหลังการประชุมรัฐสภายอมรับกันว่า “เราถูกหลอก” โดนตลบหลังขอไปศึกษาการแก้ก่อน

“ผู้ใหญ่ในพรรค ปชป.ยืนยันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะนี่คือจุดยืนที่เข้าร่วมรัฐบาล แล้วหาก ปชป.ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ขณะนี้พรรคการเมืองก็ปิดสวิตช์ เข้าร่วมรัฐบาลเช่นกัน เพราะเขาไม่ร่วมสังฆกรรมกับการตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว จะเอาพรรคอื่นมาเป็นอะไหล่คงไม่ได้แล้ว พรรคฝ่ายค้านจะแปลงกายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นหมา”

ที่สำคัญหากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องตกไป มีโอกาสที่พรรค ปชป.จะถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะจะโดนกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก ส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แม้จะออกมาแถลงขอโทษประชาชน แต่พรรค ภท.ไม่ได้มีจุดยืนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ตอนต้น

“สิ่งที่ทำให้รัฐบาล พรรค พปชร.ยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมั่นใจว่าม็อบจุดไม่ติด ซึ่งอาจจะลองดูการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคมอีกครั้งหนึ่ง บางทีคนอยู่ในอำนาจเส้นผมบังภูเขา”

สำหรับโอกาสที่จะเกิดการยุบสภา ต้องยอมรับว่าการยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้ม็อบ ซึ่งเดือนตุลาคมนี้เงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้ม็อบจุดติด ม็อบเห็นโครงสร้างของคะแนน เขาจะไปกดดันพรรค ปชป. และทวงถามจุดยืนของพรรค ภท. 

“การชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม หากมีประชาชนเข้าร่วมเยอะ พรรคร่วมรัฐบาลอาจจะต้องกลับมาแก้รัฐธรรมนูญ พวกนี้ต้องโดนทุบก่อนถึงจะยอม”

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวผู้มีอำนาจบางคน ได้เตรียมพรรคสำรองเอาไว้ เพราะพรรคเก่าใช้ไม่ได้แล้ว มี 1 ในบิ๊ก ป.สั่งการ โดยพรรคใหม่จะไม่เอากลุ่มสามมิตร ทำให้กลุ่มสามมิตรต้องหาที่ใหม่ หรือไม่ก็ยึดซากพรรค พปชร. 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย (พท.) ยังไม่ตกผลึกพอ เพราะมีบางส่วนอยากมีอำนาจรัฐ บางส่วนอยากจะอยู่กับม็อบ บางส่วนรอไฟเขียวจากคนแดนไกล แต่สถานการณ์ขณะนี้กลุ่มไม่อยากเข้าร่วมรัฐบาลอาจจะมีจำนวนมากกว่า

ติดตามรายการได้ที่ : https://m.youtube.com/watch?feature=youtu.be&v=a7fFeNZqjt0