‘ธปท.’ถกปรับเกณฑ์เครดิตเทอม ขีดเส้นไม่เกิน45 วัน-เล็งออกกฎจ่ายช้าคิดดบ.

‘ธปท.’ถกปรับเกณฑ์เครดิตเทอม ขีดเส้นไม่เกิน45 วัน-เล็งออกกฎจ่ายช้าคิดดบ.

“ธปท.” ร่วม สภาพัฒน์ หอการค้า เปิดผลศึกษา การให้สินเชื่อทางการค้า พบธุรกิจรายใหญ่จ่ายหนี้ช้า-ยืดเวลาสูงสุด 120 วัน ส่งผลธุรกิจเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง จ่อกำหนดมาตรฐานการให้เครดิตเทอม ชำระหนี้ภายใน 30-45 วัน 

นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษา ประจำสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าภาคธุรกิจมีการทำธุรกิจด้วยการซื้อขายด้วยเงินสด ในการทำธุรกิจเพียง 4% แต่เกือบ 96% มีการใช้สินเชื่อการค้า หรือ Credit term อีกทั้งพบว่า เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ภาคธุรกิจมักมีการขยายเครดิตเทอมออกไป โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ ที่มีการยึดเครดิตเทอมออกไปสูงถึง 4 เดือน หรือ 120 วันหากเทียบกับการชำระเงินคืนเดิมที่อยู่ราว 30-45 วันเท่านั้น เนื่องจากธุรกิจรายใหญ่มีอำนาจในการต่อรองค่อนข้างมาก 

ทั้งนี้การขยายระยะเวลาเครดิตเทอมเพิ่มขึ้น จากการสำรวจพบว่า มีผลกระทบต่อด้านสภาพคล่องต่อผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงถึง 38.5% และมีหนี้สินมากขึ้น 27.6% และมีความสามารถชำระหนี้ลดลง 16.2% ส่งผลให้ธุรกิจถูกผลกระทบจากการขยายเครดิตเทอม มีการปรับตัว โดยการเสนอให้ลูกค้าชำระบางส่วนถึง 40.6% และให้ส่วนลดเพื่อจูงใจในการชำระเงินตามกำหนดเดิมหรือเร็วขึ้น 35.5% และบางส่วนมีการหันไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน หรือสินเชื่อนอกระบบถึง 15.3%

นางสาวฐิตา เภกานนท์ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากศึกษาจากต่างประเทศ พบว่า เพื่อลดปัญหาการยืดระยะเวลาจ่ายเครดิตเทอม ต่างประเทศมีการกำหนดเกณฑ์ การจ่ายเครดิตเทอม เช่น สหราชอาณาจักร มีการกำหนดการจ่ายเครดิตเทอมภายใน 60 วัน หากเกินมีบทลงโทษ โดยการตัดสิทธิการธุรกิจร่วมกับภาครัฐ ขณะที่ออสเตรเลียมีการให้จ่ายเครดิตเทอมภายใน 30 วัน โดยหากเกิน ให้เพิกถอน Certlflcate ขณะที่ อียู มีการกำหนดเครดิตเทอมที่ 60 วัน โดยหากเกินให้จ่ายค่าปรับ เป็นดอกเบี้ย รวมถึงจีนที่ล่าสุดมีการกำหนด ให้จ่ายเครดิตเทอม ภายใน 30 วันสูงสุดไม่เกิน 60 วัน โดยกำหนดการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปี ตามอัตราตลาด 

ดังนั้นธปท. จึงทำการศึกษาร่วมกับ สภาพัฒน์ หอการค้าไทย เพื่อเสนอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อเครดิตเทอม ภายใน 30-45 วัน ส่วนบทลงโทษอยู่ระหว่างการศึกษา ว่าอาจเป็นการให้ถูกเบี้ยปรับ และการจ่ายดอกเบี้ยให้กับภาคธุรกิจ

สอง การให้เปิดเผยข้อมูลระยะเวลาเครดิตเทอม เนื่องจากพบว่าบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ ในตลาดหลักทรัพย์ที่จ่ายเครดิตเทอมช้า ดังนั้นควรมีการเปิดเผยข้อมูลระยะเวลาการให้เครดิตเทอม ในรายงานประจำปี เพื่อเป็นหลักการหนึ่งของ การประเมินการมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ เพื่อสนับสนุนห่วงโซ่ที่ยั่งยืนในอนาคต

สาม คือการสร้างแรงจูงใจด้านบวกให้กับภาคธุรกิจตามเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา เครดิตเทอมอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด เช่น กำหนดการส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจสำหรับธุรกิจ ให้มีแนวปฏิบัติที่ดี เช่นการให้โควตาสำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง การให้สิทธิพิเศษทางการเงินและการเข้าถึงสินเชื่อเป็นต้น

“การกำหนดเครดิตเทอมนี้ใกล้เคียงกับกฎบังคับของจีน เพราะเราพบว่า การจ่ายเครดิตเทอมปัจจุบันรายใหญ่มักมีอำนาจในการต่อรอง ทำให้การจ่ายเครดิตเทอมยาวนานขึ้น ดังนั้นกว่าเอสเอ็มอีจะได้เงินจากรายใหญ่ ก็นาน ซึ่งไม่สมดุลกับที่เอสเอ็มอีจะต้องนำเงินไปจ่ายกับซัพพลายเออร์ต่อที่ค่อนข้างสั้น ทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดปัญหา ขาดสภาพคล่องเป็นโดมิโน เพราะการบริหารเงินสดของคนตัวเล็กทำได้ยาก”

นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. กล่าวว่า หลังมีการเห็นชอบในหลักการเบื้องต้นแล้ว คาดว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะมีการนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป และคาดว่าจะมีการนำหลักเกณฑ์ออกมาใช้เป็นทางการ กับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ เช่นภาคการผลิตที่มีรายได้เกิน 500 ล้านบาทต่อปี และภาคบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี ราวต้นธ.ค. 2563 และคาดจะใช้กับเอสเอ็มอีในไตรมาสแรกปีหน้า เป็นลำดับถัดไป