'สุพัฒนพงษ์' ยืนยันลุย EEC โฟกัสดึงลงทุนอุตฯเป้าหมาย

'สุพัฒนพงษ์' ยืนยันลุย EEC โฟกัสดึงลงทุนอุตฯเป้าหมาย

การเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบการผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในรัฐบาล ซึ่งแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังคงเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แต่ภาคเอกชนกังวลความต่อเนื่อง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า อีอีซียังเป็นโครงการลงทุนที่รัฐบาลให้ความสำคัญและต้องดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่ให้ได้ ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาโครงการที่ต้องขับเคลื่อนและนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายจะต้องหารือกันใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เจาะลึกและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น 

ทั้งนี้ เพราะการลงทุนในอีอีซีช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นการลงทุนในโครงการที่คนไทยใช้ประโยชน์และลงทุนกันเอง เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)

ขณะที่อีอีซีมีขนาดใหญ่มากและยังเหลือพื้นที่ที่จะรองรับการลงทุนได้อีกมาก ซึ่งรัฐบาลอยากเห็นนักลงทุนตัวจริงเข้ามาลงทุนในพื้นที่ และการพูดถึงอีอีซีในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นการเตรียมพร้อมว่าจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกันอย่างไร

แต่ปัจจุบันนี้ มีโอกาสเพิ่มขึ้นแล้วทั้งจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งนักลงทุนจีนเองก็ไม่อยากยึดฐานการผลิตอยู่เฉพาะในจีน แต่มีบริษัทข้ามชาติที่ต้องการขยับหนีออกไปประเทศอื่น ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศที่เคยลงทุนอยู่ในจีนและยังอยากย้ายฐานการผลิตออก

ดังนั้น ไทยที่มีจุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้วและเหนือกว่าคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ควรใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์ เพราะหากดูจากแผนที่ตั้งของอีอีซีจะเห็นว่าพื้นที่บริเวณชายทะเล จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้หมด แต่จะทำอย่างไรให้ไทยสามารถนำนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ถูกตัว และดึงเข้ามาลงทุนให้ได้ ซึ่งวันนี้ผู้ประกอบการก็เปลี่ยนไปจากอดีตที่แต่ละบริษัทจะมีฐานการผลิตขนาดใหญ่แห่งเดียว 

แต่เมื่อประสบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ตระหนักในหลายเรื่อง เช่น หากการจัดซื้ออุปกรณ์ขาดไปสักหนึ่งชิ้นก็จะกระทบต่อการผลิต ประกอบกับปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ก็ทำให้นักลงทุนรู้ว่าควรจะต้องกระจายฐานการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงด้านการลงทุนในอนาคต

“วันนี้ เราไม่ต้องการอยู่ท่ามกลางข้อมูลที่ไม่เพียงพอ มีแต่บอกว่า คนสนใจเราเยอะ คำถาม คือ แล้วเมื่อไหร่จะมา ต้องใช้เวลา แล้วจะใช้เวลาเรื่องอะไร”

160104179570

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนการลงทุนในอีอีซี ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมแผนการทำงานร่วมกันทุกสัปดาห์ และมีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.ช่วยกำกับดูแลครอบคลุมทั้ง 36 โครงการ ซึ่ง ศบศ.นอกจากจะดูแลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ยังดูถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว ที่รวมถึงการลงทุนในอีอีซีด้วย 

แต่สิ่งสำคัญในขณะนี้ คือ ไทยต้องชัดเจนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะพุ่งเป้าไปดึกดูดนักลงทุนต่างชาติ ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Target group) ให้ชัดเจนว่าเป็นอุตสาหกรรมใด หรืออาจดูจาก 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แล้วคัดเหลือ 2-3 อุตสาหกรรมเพื่อทำกิจกรรมดึงการลงทุนในแต่ละเวที เพราะต่างชาติต้องการข้อมูลที่สนใจเชิงลึกมากกว่าข้อมูลทุกอุตสาหรรม

การทำงานเพื่อดึงการลงทุนจะต้องดูว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายกลุ่มใดที่ดึงดูดผ่านกระบวนการทางการทูตได้ รวมทั้งดูว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายใดที่ต้องดำเนินการผ่านของบทบาทของรองนายกรัฐมนตรี ก็จะดำเนินการหากลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นลักษณะการทำงานช่วยเหลือกันในหลายทาง

ส่วนการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจะต้องอยู่ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดหรือไม่นั้น ต้องให้สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคัดอุตสาหกรรมที่มั่นใจว่า เมื่อนำไปโปรโมทเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติแล้วแข่งขันกับคู่แข่งประเทศอื่นได้

“เอาที่มั่นใจว่าเมื่อวางบนโต๊ะ อุตสาหกรรมนั้นเทียบกับประเทศอื่นที่มาเสนอ เราดีที่สุด แต่อย่าไปวางหมดทั้ง 12 อุตสาหกรรม เวลาไปโปรโมทเราต้องเจาะ ถ้ามาเจาะนักลงทุนต่างชาติทีเดียวก็อาจสับสน”

ทั้งนี้ วิธีการนี้เคยเคยใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในสมัยที่เป็นผู้บริหารบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็นำไปเจรจากับนักลงทุน 3 กลุ่ม ก็ได้มา 2-3 บริษัท ซึ่งวันนี้ นักลงทุนเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ต้องการหาฐานการผลิตใหม่ ก็เป็นโอกาส หากเป็นอดีตก็จะเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนได้ยากกว่า

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2563 ได้มอบนโยบายให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยต้องการให้ ปตท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของไทย ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศ เร่งขับเคลื่อนการลงทุนในโครงการสำคัญให้สำเร็จและดึงดูดการลงทุนต่างชาติ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศให้ก้าวผ่านภาวะถดถอยการผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการลงทุนในอีอีซี

ปตท.จะต้องไปวางแผนดึงดูดนักลงทุนเข้ามา เพราะอีอีซีเป็นพื้นที่ฐานการผลิตของกลุ่ม ปตท.อยู่แล้ว และขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าร่วมลงทุนหลายราย ตามนโยบายเปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจจากเดิมมีฐานการผลิตแห่งเดียว ก็กระจายในหลายประเทศหรือหลายพื้นที่มากขึ้น 

และประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้อยู่แล้ว และที่ผ่านมามีการลงทุนในส่วนนี้มากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นจุดที่ทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างชาติ

“ปีนี้ กลุ่ม ปตท.มีแผนจะลงทุน 2 แสนล้านบาท และ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2567) จะลงทุนประมาณ 9 แสนล้านบาท ซึ่งจะเดินหน้าลงทุนได้ตามเป้าหมาย และเชิงรุกมากขึ้น กลุ่ม ปตท.ยังเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยที่จะเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย”

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งธุรกิจใหม่ กลุ่ม ปตท.เล็งเป้าหมายอยู่แล้ว ก็เชื่อว่านักลงทุนที่สนใจในประเทศไทยก็น่าจะเล็งเห็นถึงความพร้อมของ ปตท.ที่จะมาเชิญชวนเป็นพันธมิตรร่วมกันได้ ซึ่งนับจากนี้ไป ปตท.จะเดินหน้าเชิงรุกแสวงหานักลงทุนที่จะเข้ามาร่วมกับ ปตท.ในธุรกิจเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับ ปตท.ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต