แกะสูตรปั้น‘อาศัย’ยุคโควิด สไตล์ทายาทรุ่น 3‘ดุสิตธานี’

แกะสูตรปั้น‘อาศัย’ยุคโควิด  สไตล์ทายาทรุ่น 3‘ดุสิตธานี’

“อาศัย” แบรนด์โรงแรมใหม่ในเครือโรงแรมเก่าแก่อายุกว่า 50 ปีที่มีชื่อเสียงอย่าง “ดุสิตธานี” ถือกำเนิดเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน เม.ย.2561 กางแผนปักหมุดขยายโรงแรมทั้งแบบลงทุนเองและรับบริหารในไทยและต่างประเทศ

ทว่าพอวิกฤติโควิดลุกลาม ความไม่แน่นอนมาเยือน สะเทือนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่คอนเซ็ปต์ของแบรนด์อาศัยกลับตอบโจทย์โลกท่องเที่ยวใบใหม่ สอดรับวิถีนิวนอร์มอลทั้งระหว่างและหลังโควิดครองเมือง

ศิรเดช โทณวณิก กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาศัย โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้บริหารโรงแรมแบรนด์อาศัย ทายาทรุ่นที่ 3 ของเครือดุสิตธานี เล่าว่า บริษัทฯเปิดให้บริการโรงแรมอาศัย กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์ ขนาด 224 ห้อง เมื่อกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นโรงแรมแห่งแรกของแบรนด์อาศัย หลังพัฒนาคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ ใช้เงินลงทุนก่อสร้างโรงแรมต้นแบบแห่งนี้ 1,100 ล้านบาท

“เหตุผลที่ตัดสินใจเปิดโรงแรมอาศัยแห่งแรกในช่วงที่โรคโควิด-19 ยังแพร่ระบาดทั่วโลก เป็นเพราะเราต้องการมูฟให้เร็วที่สุด พาชื่อแบรนด์ไปปักหมุดในหูตาคนให้ได้มากที่สุด ต้องเปิดเกมรุกในช่วงนี้ แม้ว่าโควิดยังคงอยู่”

สำหรับ “เสาหลัก” ที่แบรนด์อาศัยเลือกปักฐานแน่นมี 3 เสาด้วยกัน เสาแรกคือ Thoughtful Essentials เข้าถึงเบื้องลึกความต้องการในใจลูกค้า ลงรายละเอียดทุกขั้นตอน เช่น ขั้นตอนการเช็กอิน ซึ่งโรงแรมหลายแห่งใช้เวลาค่อนข้างนานทั้งที่ลูกค้าไม่อยากรอ ต้องการเข้าห้องพักเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงออกแบบขั้นตอนด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ลดเวลาเช็กอินให้ได้จากเฉลี่ย 10 นาทีเหลือ 5 นาที ยิ่งถ้าลูกค้าทำพรี-เช็กอินมาก่อน พบว่าใช้เวลาไม่ถึง 50 วินาที

เสาที่ 2 คือ Common Ground เน้นสร้าง Public Area ให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนอยู่บ้าน ใช้สอยได้ตามคอนเซ็ปต์ Eat, Work, Play และเสาที่ 3 คือ Authentic Connection ดึงเชฟชื่อดังและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมอีเวนต์ของโรงแรม รวมถึงการลงพื้นที่ของทีมงานในย่านที่ตั้งของโรงแรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน เจาะลึกหาอินไซต์ดุจ Hidden Gems หรืออัญมณีเม็ดงามที่ซ่อนอยู่

“เพราะเรามองว่าอินไซต์คือสินทรัพย์ที่มีค่า ไม่ใช่แค่นำมาขาย แต่สามารถเสริมพลังให้ลูกค้าในการออกเดินทางแต่ละครั้งได้”

ขณะที่ “คาแรกเตอร์” ของแบรนด์อาศัย ศิรเดช ขยายความว่า ตั้งอยู่บน 4 องค์ประกอบ ได้แก่ Enhance Experience มุ่งขายประสบการณ์มากกว่าการขายห้องพัก, Local Community เชื่อมแบรนด์อาศัยกับชุมชนบนโลเกชั่นเปี่ยมเสน่ห์, Sustainability สร้างวัฒนธรรมแห่งความยั่งยืน ไม่ใช่แค่ลูกค้า แต่รวมถึงองค์กรด้วย และ Business จริงจังกับการสร้างความสำเร็จในเชิงธุรกิจ สามารถสร้างรายได้จากทุกๆ จุดในโรงแรม หนุนแบรนด์อาศัยเติบโตได้อย่างยั่งยืน อย่างเช่น ทรัพยากรบุคคลต้องใช้อย่างกะทัดรัดที่สุด  

ตอบโจทย์การเป็น Hospitality Platform ไม่ใช่แค่โรงแรมทั่วไป แต่เป็นการก่อความร่วมมือกันระหว่างในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และสามารถเจาะฐานนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ของโลกอย่าง “กลุ่มมิลเลนเนียม”

“เราอยู่ในยุคโควิด ที่สมการของโลกใหม่คือ 1+1 = 3 ต้องหาสิ่งใหม่มาเติมเพื่อสร้างประสบการณ์การเข้าพักที่ดีแก่กลุ่มเป้าหมาย กลายเป็นว่าสิ่งที่แบรนด์อาศัยคิดก่อนโควิดจะเกิด กลับสามารถตอบโจทย์ช่วงโควิดได้พอดี” ศิรเดชกล่าว

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เล่าเสริมว่า ยุคหลังโควิดจะมีบริบทใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายนอกเหนือจากความปลอดภัยและสุขอนามัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างความยั่งยืน การดูแลสุขภาพ และการเข้าถึงประสบการณ์ท้องถิ่น ล้วนอยู่ในดีเอ็นเอและความสนใจของกลุ่มมิลเลนเนียมซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่เติบโตสูง ครองสัดส่วน 60% ของประชากรโลก และกว่า 45% อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงลุยเปิดโรงแรมอาศัยรวม 7 แห่งในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ มีทั้งแบบลงทุนเอง 3 แห่ง ได้แก่ ที่ไชน่าทาวน์, สาทร และเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่รับบริหารขณะนี้มี 4 แห่ง ที่ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา 1 แห่ง และอีก 3 แห่งอยู่ที่เซบู ประเทศฟิลิปปินส์

“เมื่อกลุ่มดุสิตธานีตัดสินใจทำแบรนด์โรงแรมใหม่ จึงเซ็ตอัพให้บริษัทลูกอย่าง อาศัย โฮลดิ้งส์ เป็นเหมือนสตาร์ตอัพ ปล่อยให้ลูกได้ทำในสิ่งที่แม่ไม่เคยทำ เพื่อให้แม่ได้อาศัยเรียนรู้จากโมเดลของลูก และนำไปปรับใช้กับดุสิตธานีต่อไป”

เข้าทำนองดิสรัปตัวเอง ก่อนจะถูกคนอื่นมาดิสรัปนั่นเอง!