ส.อ.ท.ทำแผน 'อุ้มเอสเอ็มอี' ดันพักหนี้ธุรกิจ 2 ปี เข้า ศบศ.

ส.อ.ท.ทำแผน 'อุ้มเอสเอ็มอี' ดันพักหนี้ธุรกิจ 2 ปี เข้า ศบศ.

ส.อ.ท.ชงแผนอุ้มเอสเอ็มอี ต่ออายุพักหนี้ 2 ปี สศช.ยืนยันเสนอ ศบศ.สัปดาห์หน้า เผย 6 กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ตอบรับเร่งจ่ายเงินให้ซัพพลายเออร์ใน 30 วัน หวังเพิ่มสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ คาดปีนี้เลิกจ้าง 3 ล้านคน หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น

มาตรการพักชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในเดือน ต.ค.2563 ทำให้มีเสียงเรียกร้องเพื่อขอต่อมาตรการนี้ออกไปอีก เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จึงจำเป็นที่ต้องสร้างสภาพคล่องธุรกิจให้มากที่สุด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่ง ส.อ.ท.ได้หาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งแนวทางการช่วยเหลือตัวเองและแนวทางการยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับกับขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจให้กับรัฐบาล

ทั้งนี้ ส.อ.ท.มีข้อเสนอที่ได้เสนอให้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2563 ซึ่งได้หารือรายละเอียดกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเตรียมรายละเอียดเสนอ ศบศ.อีกรอบในวันที่ 30 ก.ย.2563 

โดยมีข้อเสนอสำคัญ คือ การขอยืดชำระเงินกู้ไปอีก 2 ปี (2564-2565) โดยพักชำระเงินต้นจนถึงเดือน ธ.ค.2565 สำหรับการชำระดอกเบี้ยให้จ่ายเพียงบางส่วน โดยในช่วง 6 เดือนแรก (พ.ย.2563-เม.ย.2564) ชำระ 10% ของดอกเบี้ยรายเดือนที่เกิดขึ้น

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการสู้ต่อ เพราะการพักชำระเงินกู้จะทำให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องในธุรกิจมากขึ้น ในขณะที่ยังคงจ่ายดอกเบี้ยอยู่จะทำให้ไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) รวมทั้งธนาคารไม่ต้องตั้งสำรองในกรณีนี้

สำหรับการพิจารณาพักหนี้อาจจะไม่ใช้เงื่อนไขเดียวกับการพักหนี้ 6 เดือน ที่จะครบกำหนดในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งการพักหนี้ดังกล่าวใช้กับลูกหนี้ทุกกลุ่มเป็นการทั่วไป แต่การขอพักหนี้รอบใหม่ 2 ปี จะดำเนินการเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีปัญหาและธุรกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 นับตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

“ผู้ประกอบการรายใดที่ธุรกิจฟื้นตัวขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือก็จะชำระดอกเบี้ยมากกว่า 10% ของดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย”นายสุพันธุ์ กล่าว

ส่วนการช่วยเหลือกันเองในกลุ่มผู้ประกอบการได้ผลักดันให้บริษัทรายใหญ่ที่มีซัพพลายเออร์เป็นเอสเอ็มอีให้ได้รับการชำระเงินจากสินค้าและบริการเร็วขึ้นไม่เกิน 30 วัน ซึ่งจะเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี และจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐต้องการให้ภาคเอกชนมีการช่วยเหลือตัวเองด้วยนอกเหนือจากความช่วยเหลือจากภาครัฐจึงได้คิดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อดำเนินการคู่ขนานระหว่างการช่วยเหลือกันเองกับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ส.อ.ท.หารือและมีผู้ประกบการรายใหญ่ที่จะสนับสนุนแนวทางนี้ คือ

1.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี

2.บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

3.เครือสหพัฒน์

4.บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ อีเอ

5.เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งตอบรับทั้งบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัทซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) บริษัทสยามแม็คโคร จํากัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

6.กลุ่มพาณิชย์ชีวะ

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน โดยประเมินว่าสถานการณ์การจ้างงานในไตรมาส 3 จะดีขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยภาวะการผลิตของบางอุตสาหกรรมดีขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการผลิตรถยนต์ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 117,253 คัน สูงกว่ายอดการผลิตในเดือน ก.ค.2563 ที่มีปริมาณ 89,336 คัน แต่สถานการณ์เช่นนี้ต้องดูระยะยาวเพราะการผลิตที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากงานแสดงรถยนต์ด้วย

ทั้งนี้ ภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ ซึ่งภาครัฐจะร่วมจ่ายเงินเดือน 50% สำหรับการจ้างงานตั้งแต่ระดับ ปวช.ถึงปริญญาตรี โดยโครงการนี้จูงใจให้ภาคเอกชนร่วมจ้างมากขึ้น และจะมีการเปิดตัวในงาน Job Expo Thailand 2020 ในวันที่ 26-28 ก.ย.2563 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ส.อ.ท.ประเมินว่าหากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจะทำให้มีการว่างงานประมาณ 3 ล้านคนเศษ โดยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ในระบบประกันสังคมมีการลาออกหรือเลิกจ้าง 1.8 ล้านคน และจากนี้ไปอาจจะมีเพิ่มและจะทำให้ทั้งปี 2563 มีแรงงานที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้างประมาณ 2 ล้านคน

รวมทั้งจะมีกลุ่มผู้มีงานทำประจำแต่ไม่มีชั่วโมงทำงาน ซึ่งยังคงมีสถานภาพเป็นพนักงานแต่สถานประกอบการหยุดชั่วคราวหรือลดชั่วโมงการทำงาน เช่น โรงแรม โดยกลุ่มนี้ยังไม่มีการเลิกจ้างเพราะกองทุนประกันสังคมให้ความช่วยเหลือ แต่มาตรการนี้หมดในเดือน ส.ค. ซึ่ง ส.อ.ท.ต้องการให้ต่อมาตรการช่วยเหลือของกองทุนประกันสังคมไปจนถึง ธ.ค.2563