'สศก.' จับมือ 'สวก.' ทำเกษตรสมัยใหม่ในพื้นที่อีอีซี

'สศก.' จับมือ 'สวก.' ทำเกษตรสมัยใหม่ในพื้นที่อีอีซี

สศก. MOU สวก. ยกระดับงานวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สู่ระบบเกษตรสมัยใหม่ด้วย AI หวังใช้ในพื้นที่ อีอีซี

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จับมือ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) MOU ความร่วมมือ การพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรและเทคโนโลยีการวิจัยการเกษตรที่มีศักยภาพ พร้อมเชื่อมโยงสู่ฐานข้อมูล Big Data พัฒนาสู่ระบบเกษตรสมัยใหม่โดยใช้ AI ยกระดับขีดความสามารถการผลิตภาคการเกษตรไทยสู่สากล

วันนี้ (25 กันยายน 2563)

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยูระหว่าง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เพื่อการพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรและเทคโนโลยีการวิจัยการเกษตรที่มีศักยภาพและการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย

ทั้งนี้เพื่อนำผลงานวิจัย เทคโนโลยีการวิจัยการเกษตร และงานวิจัยที่มีศักยภาพ ผลักดันสู่การใช้ประโยชน์ ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดนโยบายพัฒนาภาคการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร การพัฒนาศักยภาพบุคลากร ซึ่งจะช่วยให้เกิดการขยายผลงานวิจัย สู่การนำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจังในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ

สศก. มีพันธกิจในการดำเนินงานด้านการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยด้านเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งการขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรม จำเป็นต้องใช้งานวิจัยมาสนับสนุน และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านการเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน

ที่ผ่านมา ได้เน้นย้ำความสำคัญงานวิจัยของ สศก. ต้องเป็นรูปธรรม อ้างอิงได้ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ดังนั้น ความร่วมมือกันในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งต้องขอขอบคุณทาง สวก. ที่ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน และที่สำคัญ สศก. ยังสามารถนำข้อมูลเชื่อมโยงกับฐานข้อมูล Big Data ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ หรือ NABC ได้เป็นอย่างดี เพื่อก้าวสู่พัฒนาระบบเกษตรสมัยใหม่โดยใช้ AI และประยุกต์ในการจัดทำปฏิทินสินค้าเกษตรระดับจังหวัดที่มีการแสดงผลด้าน Supply และ Demand

นอกจากนี้ สศก. ในฐานะหน่วยงานประสานหลักจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ยังสามารถประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ให้เกิดรายได้ไม่น้อยไปกว่าภาคอุตสาหกรรม อันจะเป็นต้นแบบการพัฒนาด้านการเกษตรสมัยใหม่ของประเทศ ตามแนวคิดตลาดนำการผลิตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย

นาย สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สวก. กล่าวว่า พร้อมสวก. ร่วมส่งเสริม สนับสนุนทั้งงานวิจัย การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และงานกิจกรรมอื่นๆ กับทาง สศก. ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถต่อยอด ขยายผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และขยายผลไปยังทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาภาคเกษตรของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่ EEC อาทิ โครงการวิจัยอัตราการให้น้ำมันของปาล์มน้ำมัน การวิจัยการปลูกมันสำปะหลังเพื่อการผลิตแป้งสำหรับใช้เลี้ยงทารกเพื่อการเพิ่มมูลค่า การวิจัยจัดทำระบบการป้องกันและเตือนภัยการระบาดของแมลงทางศัตรูพืช (Smart Pest Warning System) การพัฒนาสารสกัดจากทุเรียนเพื่อเป็นเวชสำอางค์ อีกทั้งปัจจุบัน สวก. มีโครงการที่ให้ทุนวิจัยและดำเนินการอยู่ในพื้นที่ EEC ได้แก่ การศึกษาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงเพื่อรองรับการเติบโตของพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ทั้งนี้ สวก. จะต่อยอดงานวิจัยดังกล่าว โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของ สศก. ในการวิเคราะห์ผลกระทบต่างๆ เพื่อวางแผนรูปแบบการทำการเกษตรในพื้นที่ โดยศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคต เพื่อวางแนวทางการปรับตัวของเกษตรกรให้เข้ากับลักษณะพื้นที่ การศึกษาความเพียงพอของแหล่งน้ำ และศึกษาพืชที่มีศักยภาพ เช่น พืชสมุนไพร เป็นต้น และเพื่อสนับสนุนการดำเนินการที่กล่าวมาแล้วนั้น อีกทั้งปัจจุบัน สวก. ได้พัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลงานวิจัยการเกษตรของประเทศไทย ชื่อว่า Platform TARR Thailand ที่ได้รวบรวมงานวิจัยและสามารถสืบค้นได้มากกว่า 40,000 ชิ้น จึงจะเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่จะนำฐานข้อมูลดังกล่าว เชื่อมโยงกันกับฐานข้อมูล Big Data ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติของ สศก. เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรของไทยต่อไป