คัมแบ็คจัดบ้านใหม่ ! 'ประพล มิลินทจินดา'

คัมแบ็คจัดบ้านใหม่ ! 'ประพล มิลินทจินดา'

กลับมาจัดบ้านใหม่อีกครั้งในรอบ 3 ปี ! ของ 'ประพล มิลินทจินดา' เจ้าของตัวจริง 'บล.เออีซี' เล็งล้างภาพเก่าเตรียมรีแบรนด์ดิ้งใหม่ หวังเรียกศรัทธานักลงทุนคืน เดินหน้าแผนธุรกิจ 'ตัวแทนบริหารเงินลงทุน' ให้สร้างผลกำไรงอกเงย เจาะกลุ่มลูกค้าเงินเก็บ !

พลันที !! ปล่อยมือให้ 'นักบริหารมืออาชีพ' เข้ามาบริหารธุรกิจหลักทรัพย์ของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เออีซี หรือ AEC ของ 'ประพล มิลินทจินดา' ผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 23.56% หวังให้ผลประกอบการเติบโต หลังทุ่มเงินลงขันเข้า 'ซื้อกิจการ' (เทคโอเวอร์) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูไนเต็ด หรือ US แล้วแต่งตัวใหม่ ! ซึ่งที่ผ่านมาเก้าอี้ 'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' (CEO) ของ บล.เออีซี มีการสลับปรับเปลี่ยนมาหลายคนแล้ว

ทว่าผ่านไป 3 ปี (2560-2562) กับพบว่า ตัวเลขกำไรสุทธิ 'ติดลบ' เพิ่มมากขึ้นทุกปี สะท้อนผ่าน 'ขาดทุนสุทธิ' 76.90 ล้านบาท 85.95 ล้านบาท 237.87 ล้านบาท ตามลำดับ และล่าสุดไตรมาส 2 ปี 2563 ขาดทุนสุทธิอยู่ที่  151.22 ล้านบาท  

ประกอบกับเมื่อ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา บล.เออีซีได้จากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อแจ้งเรื่องการไม่ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ตามประกาศกำหนด จนเป็นเหตุให้บริษัทต้องระงับการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้จนกว่าบริษัทจะแก้ไขปัญหาฐานะเงินกองทุนให้กลับมาเป็นปกติได้ 

ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ขึ้นเครื่องหมาย C แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี หรือ AEC  ตั้งแต่วันที่  31 ส.ค. 2563 เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว สำหรับงบการเงินงวดครึ่งปีสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2563 

โดยปัญหาดังกล่าว บล.เออีซี แก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังบริษัทเพิ่มทุนสำเร็จได้เงินจำนวน 306 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 4,590,933,780 หุ้น โดยจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 3,060,622,520 หุ้น ในสัดส่วน 0.4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 0.10 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ถือหุ้นเป็นอย่างมาก 

สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นที่มีให้กับบริษัท รวมถึงมั่นใจในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในการรองรับการดำเนินงานปกติในธุรกิจหลัก รวมทั้งการขยายธุรกิจหลักธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และการต่อยอดธุรกิจในอนาคต รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้บริษัทมีศักยภาพในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพสำหรับการประกอบธุรกิจในระยะยาวอีกด้วย  

ดังนั้น เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2563 สำนักงาน ก.ล.ต.ได้มีหนังสือเรื่อง การอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งบริษัทสามารถดำเนินธุรกรรมเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภทบัญชี กองทุนส่วนบุคคล การซื้อขายหน่วยลงทุน การเป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ตราสารหนี้ การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ในฐานะตัวการ Block Trade การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ และธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริษัทได้ตามปกติ

ถือเป็นการกลับมา 'จัดบ้านใหม่' อีกครั้ง ! ในรอบกว่า 3 ปี ของ 'ประพล มิลินทจินดา' ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี หรือ (AEC) เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ตัวเองรู้สึกเหมือนกลับมาเริ่มนับหนึ่งในการทำธุรกิจใหม่อีกครั้ง ! หากนับตั้งแต่ควักเงินลงขันเข้า 'ซื้อกิจการ' (เทคโอเวอร์) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูไนเต็ด หรือ US แล้วแต่งตัวใหม่ ! เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา

ตอนี้ต้องยอมรับว่าธุรกิจของ บล.เออีซี  ได้รับความเสียหายไปมาก ฉะนั้น ผมในฐานะเจ้าของตัวจริง และเจ้าของเงินลงทุนจริงๆ จำเป็นต้องเข้ามาเก็บกวาดบ้านหลังดังกล่าวใหม่อีกครั้ง ด้วยการแก้ไขปัญหาใหญ่คือ รอยรั่วไหลข้างหลังบ้าน ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 70% โดยส่วนตัวถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการวางขุมกำลังบริหารใหม่ให้ตรงกับเป้าหมายธุรกิจ หลังจากมีการเก็บกวาดไปหมดแล้ว ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ระหว่างขั้นตอนการหาตำแหน่ง 'ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่' (CEO)  

เจ้าของ AEC ตัวจริง บอกว่า จากนี้สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ด้วย 'การรีแบรนด์' (rebranding) องค์กรใหม่ทั้งหมดก่อน เพื่อหาจุดยื่นของ บล.เออีซี ให้ได้ก่อนว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจและการแข่งขันในอุตสาหกรรมเฉกเช่นนี้ บล.เออีซี โครงสร้างธุรกิจจะเดินไปทางไหน โดยเงินระดมทุนจำนวน 306 ล้านบาท เบื้องต้นจะนำมาเสริมสภาพคล่ององค์กรให้เดินต่อไป  

ด้วย 2 แนวทาง ที่กำลังดำเนินการ นั่นคือ 'ดิจิทัล (Digital) & ไฮบริด (Hybrid)' โดยเริ่มต้นบล.เออีซี จะทำตัวเองเป็น 'ไฮบริด' (Hybrid) ก่อน คือ การมีทีมมาร์เก็ตติ้ง (Marketing) ที่มีคุณภาพ ซึ่งอย่างน้อยในบล.ต้องมีมาร์เก็ตติ้งครึ่งหนึ่ง แต่ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ เนื่องจากต้องดึงตัวมาร์เก็ตติ้งมาอยู่กับบริษัทจำนวนมาก เพราะว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นมาร์เก็ตติ้งออกไปจำนวนมาก ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 10 คนเอง 

สำหรับแนวทาง 'ดิจิทัล' (Digital) คือ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการลงทุนอย่างเดียวล้วนๆ ซึ่งในส่วนของมาร์เก็ตติ้งนั้นจะเหลือแค่ 10-20 คนเท่านั้น ซึ่งแนวทางดิจิทัลจะเป็นแผนธุรกิจในระยะยาวที่ บล.เออีซี จะต้องเดินไปในอนาคต โดยการนำเทคโนโลยี AI หรือ เทรดผ่านระบบออนไลน์ เข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานทั้งส่วนขององค์กรและลูกค้า รวมถึงช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานลงแต่ยังคงรักษาศักยภาพของการดำเนินธุรกิจได้ และที่สำคัญคือหากสามารถรักษาความสมดุลในเรื่องของรายได้และผลตอบแทน ระหว่างบริษัทกับมาร์เก็ตติ้งก็จะสามารถแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์ได้ในระยะยาว 

อย่างไรก็ตาม ในแผนธุรกิจของ บล.เออีซี เดิมวางกลยุทธ์ในการดำเนินงานโดยการกระจายโครงสร้างรายได้ไปใน '4 กลุ่มธุรกิจ' นั่นคือ 'กลุ่มนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์-กลุ่มบริหารการลงทุน-กลุ่มธุรกิจวาณิชธนกิจ-กลุ่มนวัตกรรมการลงทุน' 

เขาแจกแจงว่า สำหรับ 'กลุ่มนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์' ปัจจุบันลูกค้ารายใหญ่ที่เคยซื้อขาย (เทรด) กับบล.เออีซี ไม่มีแล้ว เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ส่วนมากจะเลือกไปเทรดกับมาร์เก็ตติ้งที่เคยดูแลกันมาตลอด ซึ่งตอนนี้มาร์เก็ตติ้งเหลือแค่ 10 คน ขณะที่บัญชีลูกค้าตอนนี้เหลือแค่ 10% จาก 100% หายไปมากภายในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา 

แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าเริ่มกลับเข้ามาใช้บริการซื้อขายเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ในส่วนของลูกค้าพอร์ตรายใหญ่ยังไม่กลับมา ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหน้าที่ของบริษัทในการทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจในการซื้อขายกับบล.เออีซี โดยกลยุทธ์อาจจะต้องมีการจัดโปรดักท์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ารายใหญ่ที่หาไม่ได้จากบริษัทหลักทรัพย์รายอื่นๆ   

ขณะที่ ปัจจุบันบริษัทกำลังปรับโครงสร้างและแนวทางของ บล.เออีซีใหม่ โดยจะทำตัวเองให้เป็น 'ตัวแทนบริหารการลงทุน' ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการบริหารเงินทุนให้เกิดผลตอบแทน จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักมาจากกลุ่มนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 

อย่างไรก็ตาม บล.เออีซี ไม่เก่งเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ เพราะว่าปัจจุบันมาร์เก็ตติ้งเราออกไปหมดแล้ว แต่อนาคตจะเน้นมาร์เก็ตติ้งที่มีคุณภาพและระยะยาวธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จะเป็นดิจิทัลทั้งหมด และต่อไปเราจะเน้นในธุรกิจตัวแทนบริหารการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้ ตราสารทุน การลงทุนส่วนบุคคล เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำระบบ AI เข้ามาช่วยบริหาร ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้มีเป้าหมายต้องการผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 4-5% ก็ถือว่าดีแล้ว   

'จุดมุ่งหมายของเราจะเป็นตัวแทนให้กับนักลงทุนที่ขาดโอกาส , หาโอกาส , และเกิดปัญหาในการลงทุน ซึ่งเราจะเข้าไปแก้โจทย์ตรงนี้ให้กับนักลงทุนที่จะทำให้เงินทุนมีการเติบโตและสร้างผลกำไรอย่างมั่นคง'

สำหรับแผนการดำเนินงานคาดว่าจะฟื้นตัวในปี 2564 โดยในส่วนของธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นรายได้หลัก บริษัทจะเน้นการลงทุนในระบบเทคโนโลยี หรือ เทรดผ่านระบบออนไลน์ พัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานทั้งส่วนขององค์กร และลูกค้า 

รวมทั้งให้บริการด้านที่ปรึกษาทางการเงิน หรือวาณิชธนกิจ ขณะเดียวกันจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไร และเร่งลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ซึ่งยังรักษาศักยภาพของการดำเนินธุรกิจไว้ให้ได้ นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัท ซึ่งพบว่ายังมีโอกาสขยายไลน์เพื่อต่อยอดจากธุรกิจหลักทรัพย์ไปได้อีกในอนาคต 

ท้ายสุด 'ประพล' ทิ้งท้ายไว้ว่า การกลับมาบริหาร บล.เออีซี อีกครั้งในรอบ 3 ปี ถือเป็นโอกาสดีในการวางขุมกำลังใหม่ให้ตรงเป้าหมายของธุรกิจ โดยเริ่มต้นด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนก่อน โดยการรีแบรนด์ดิ้งตัวเองใหม่ ปัจจุบันการจัดบ้านใหม่มีความคืนหน้ากว่า 70% ต้นเดือน ต.ค. นี้ น่าจะเรียบร้อย