‘ทอท. ’ยืดเวลาช่วยลูกค้า เพิ่มดาวน์ไซด์-กดดันราคาหุ้น

‘ทอท. ’ยืดเวลาช่วยลูกค้า  เพิ่มดาวน์ไซด์-กดดันราคาหุ้น

ประเทศไทยล็อกดาวน์ปิดน่านฟ้ามานานเกือบ 6 เดือน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เที่ยวบินโดยสารระหว่างประเทศถูกระงับให้บริการทั้งหมด ทำให้บรรยากาศการเดินทางในสนามบินทั่วประเทศเงียบเหงาลงถนัดตา

กระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เริ่มตั้งแต่สายการบินที่ขาดทุนหนักมาตั้งแต่ต้นปี หลังจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติค่อยๆ ลดลงต่อเนื่อง นับตั้งแต่พบการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีนเมื่อช่วงปลายปี 2562 ก่อนกระจายไปทั่วโลก และนำมาสู่การปิดประเทศเมื่อเดือน เม.ย.

ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงผู้ให้บริการสนามบิน และบรรดาผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ เช่น ดิวตี้ฟรี, ร้านอาหาร, ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ ที่เข้ามาเช่าใช้พื้นที่ของสนามบิน ซึ่งต้องสูญเสียรายได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง

โดยที่ผ่านมาทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือพันธมิตร คู่ค้าธุรกิจ ผู้ประกอบการและสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มสตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563

ด้วยการยกเว้นการเก็บค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร และค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่ ให้กับผู้ประกอบการและสายการบินที่ขอยกเลิกการประกอบกิจการชั่วคราว และปรับลดค่าเช่าพื้นที่ 50% ให้กับผู้เช่าทุกรายที่ยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ

ในส่วนของสายการบินที่หยุดบินชั่วคราวได้ยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charges) และให้ส่วนลดค่าบริการขึ้นลงอากาศยาน (Landing Charges) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charges) ในอัตรา 50% สำหรับทุกสายการบินที่ยังคงเปิดให้บริการ

โดยมาตรการทั้งหมดกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 แต่ล่าสุดบอร์ดท่าอากาศยานไทยมีมติขยายเวลาช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินออกไปอีก 1 ปี 3 เดือน หรือ จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2565 เรียกว่าเป็นการยอมเฉือนเนื้อตัวเองเพิ่ม เพื่อช่วยคู่ค้าที่ยังได้รับผลกระทบหนักจากการปิดประเทศ

ต้องบอกว่าที่ผ่านมา ท่าอากาศยานไทยสวมบทพระเอกใจดี ช่วยเหลือพันธมิตรมาโดยตลอด อีกหนึ่งมาตรการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย คือ การเยียวยา “คิง เพาเวอร์” โดยมีการปรับอายุสัญญาสัมปทานให้สอดคล้องกับการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ซึ่งจะเลื่อนเปิดให้บริการจากเดิม 1 เม.ย. 2564 เป็นวันที่ 1 เม.ย. 2565

และปรับวิธีการคำนวณค่าตอบแทนขั้นต่ำโดยอิงจากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการจริง ในช่วงที่จำนวนผู้โดยสารยังต่ำกว่าประมาณการที่บริษัทประเมิณไว้ตอนเข้าร่วมประมูล แน่นอนว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมานั้น ย่อมกระทบต่อการจัดเก็บและรับรู้รายได้ของท่าอากาศยานไทย แต่บริษัทยืนยันว่าทุกมาตรการที่ออกมา ยึดถือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและประเทศชาติเป็นสำคัญ ไม่ได้ช่วยเหลือหรือเอิ้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง

ถือว่าสถานการณ์ในภาพรวมขณะนี้ยังน่าเป็นห่วง เพราะหลายประเทศพบการระบาดรอบใหม่และเริ่มทยอยกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง ส่วนบ้านเราแม้จะมีแนวคิดเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวกลุ่มประเภทพิเศษเข้ามาพักอาศัยในระยะยาว ซึ่งฟังดูแล้วเป็นข่าวดีเปรียบเสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์สำหรับภาคการท่องเที่ยวไทย

แต่ต้องยอมรับตามตรงว่าคงไม่ได้เปรี้ยงปร้าง ฟื้นตัวในทันที ต้องค่อยเป็นค่อยไป ยิ่งได้เห็นข้อมูลจากแบงก์ชาติที่ปรับลดประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้และปีหน้าลงจาก 8 ล้านราย เป็น 6.7 ล้านราย และ 16.2 ล้านราย เป็น 9 ล้านราย ตามลำดับ เชื่อว่าน่าจะทำให้บรรดานักวิเคราะห์คงต้องมานั่งดีดลูกคิดทบทวนประมาณการผลประกอบการและราคาหุ้น AOT กันใหม่อีกรอบ

ด้านบล.ทิสโก้ ระบุว่า การขยายมาตรการช่วยเหลือรอบใหม่จะส่งผลกระทบต่อรายได้หายไปราว 1.4-3.7 พันล้านบาท ซึ่ง 58% มาจากค่าธรรมเนียมการลงจอดที่ลดลง จึงปรับประมาณการผลประกอบการ AOT ปี 2564 จากกำไร 45 ล้านบาท เป็นขาดทุน 1.01 พันล้านบาท และปี 2565 จากกำไร 2.41 หมื่นล้านบาท เหลือ 2.15 หมื่นล้านบาท

ส่วนความเสี่ยงที่ คิง เพาเวอร์ จะปิดร้านมีจำกัด เนื่องจาก คิง เพาเวอร์ ได้รับการยกเว้นค่าเช่าไปแล้ว ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 เป็นต้นไป ตามสัญญาสัมปทานที่แก้ไขเพิ่มเติม นอกจากนี้ คาดว่าการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของ คิง เพาเวอร์ จะยังคงดำเนินต่อไปได้จากปริมาณสัญจรภายในประเทศที่แข็งแกร่ง และการประหยัดต้นทุนจากการได้ลดค่าเช่าลง 50%