สรรพสามิตโชว์ยอดจัดเก็บ10เดือนเกินเป้า4.2หมื่นล.

สรรพสามิตโชว์ยอดจัดเก็บ10เดือนเกินเป้า4.2หมื่นล.

สรรพสามิต เผย 11 เดือน จัดเก็บรายได้รวม 5.43 แสนล้านบาท เกินเป้า 4.2 หมื่นล้านบาท หลังยอดจัดเก็บเบียร์-เหล้า-น้ำวิตามินซี พุ่งแม้โควิด-19 กระทบ ปีหน้าลดเป้าเหลือ 5.3​ แสนล้านบาท

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสมิต เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้ในรอบกว่า 11 เดือน (1 ต.ค.2562 - 24 ก.ย. 2563)จัดเก็บได้รวม 5.43​ แสนล้านบาท​ สูงกว่าเป้าถึง 4.2​ หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม​ คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2563 กรมฯจะสามารถจัดเก็บรายได้ถึง 5.46 แสนล้านบาทแน่นอน

ทั้งนี้​ รายได้ภาษีที่สามารถจัดเก็บได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน จำนวน 2.21 แสนล้านบาท 2. ภาษีรถยนต์ จำนวน 8.43 หมื่นล้านบาท 3. ภาษีเบียร์ จำนวน 8​ หมื่นล้านบาท 4. ภาษีสุรา จำนวน 6.12 หมื่นล้านบาท 5.ภาษียาสูบ จำนวน 6.27 หมื่นล้านบาท

"ภาษีเบียร์และสุรา มียอดจัดเก็บใกล้เคียงกับยอดตามเป้าเอกสารที่คาดการณ์ไว้แม้มีการล็อคดาวน์ประเทศ โดยเบียร์จัดเก็บน้อยกว่าเป้าตามเอกสารงบประมาณแค่ 6 พันล้านบาท และสุราต่ำกว่าเป้างบประมาณแค่ 300 ล้านบาท เพราะก่อนโควิด-19 ระบาดหนักผู้ประกอบการตุนสุราและเบียร์เพื่อใช้ขายในช่วงสงกรานต์จำนวนมากสินค้าจึงไปค้างอยู่ที่ผู้ขาย เพราะการเก็บภาษีเริ่มจัดเก็บตั้งแต่สินค้าออกจากโรงงาน ดังนั้น​ ยอดจัดเก็บภาษีสินค้าเหล่านี้จึงไม่กระทบ”

ขณะที่​ ยอดจัดภาษีเก็บน้ำมันและรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างผิดคาดหลังโควิด-19 ระบาด โดยเฉพาะภาษีน้ำมันในเดือนก.ย. จัดเก็บรายได้จริงไถึง 1.4​ พันล้านบาท และถ้าดูตัวเลขทั้งปียอดจัดเก็บน้ำมันสูงกว่าปีที่ผ่านมาที่มียอดจัดเก็บสะสมอยู่ที่ 2.1​ แสนล้านบาท ส่วนรถยนต์ เดือนก.ย.จัดเก็บได้ 6.8​ พันล้านบาท และยอดรวมจัดเก็บรายได้น้อยกว่าเป้าตามเอกสารปีนี้แค่ 5 พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งสาเหตุมาจากมาตรการรัฐที่กระตุ้นให้คนท่องเที่ยวในประเทศ

นอกจากนี้​ สินค้าประเภทเครื่องดื่มทั้งหมด ตามค่าความหวานของผลิตภัณฑ์ มียอดจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 2.5​ หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าประมาณการณ์ตามเอกสารของปีนี้ 2.67% โดยสินค้าที่สามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น คือ น้ำดื่มผสมวิตามินซี ซึ่งที่มียอดขายสูงมาในช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บางโรงงานผลิตออกมาขายสู่ตลาดไม่ทัน

ขณะที่​ ปี 2564 ตามเอกสารงบประมาณคาดการณ์รายได้ของกรมสรรพสามิตอยู่ที่ 6.3 แสน ล้านบาท แต่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ได้ปรับเป้าประมาณการณ์รายได้ของกรมสรรพสามิตมาอยู่ที่ 5.3​ แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีถึงเดือนละ 4 หมื่นล้านบาท

“สิ่งที่อยากฝากให้อธิบดีกรมสรรพสามิตคนใหม่เดินหน้าต่อ​ คือ เรื่องภาษีความเค็มและเรื่องการจัดเก็บภาษีเบียร์ 0% ที่ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น เพราะรายได้ของกรมสรรพสามิตเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนฐานะการคลัง และกระแสเงินสดของรัฐในปีงบประมาณนั้นๆ ”