'สุชัชวีร์' ชงวิศวกร-เด็กไทย ร่วมสร้างไฮสปีดเทรน

'สุชัชวีร์' ชงวิศวกร-เด็กไทย ร่วมสร้างไฮสปีดเทรน

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 

ซึ่งเป็นหัวใจการพัฒนาประเทศจึงต้องดำเนินโครงการให้เกิดความยั่งยืน คือ การคิดให้ครบทุกมิติ และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในทางเศรษฐกิจ และเกิดประโยชน์ต่อคนในพื้นที่ด้วย

ดังนั้น นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ได้ตั้งคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 7 คน โดยให้เห็นผลว่าเป็นการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาเข้าร่วมเป็นคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนฯ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยให้ฐานะคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยระบุว่า หลังจากมีการแต่งตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าว ได้มีการประชุมหารือไปแล้วจำนวน 2 – 3 ครั้ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านก็จะให้ข้อเสนอแนะในมุมมองที่เชี่ยวชาญ โดยส่วนตัวมีความเห็นว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่รถไฟความเร็วสูงสายนี้ ต้องเป็นของทุกคนเป็นภาพลักษณ์ และสัญลักษณ์ความภูมิใจของประเทศไทย

ดังนั้นข้อเสนอแนะที่ตนแลกเปลี่ยนในที่ประชุม ขณะนี้มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1.รถไฟความเร็วสูงต้องเป็นรถไฟความเร็วสูงของทุกคน ต้องเป็นภาพลักษณ์ของทุกคน เป็นภูมิใจของคนในชาติ เหมือนรถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่นที่เป็นรถไฟแห่งความผูกพัน เชื่อมโยงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วประเทศ

และ 2. ในฐานะของวิศวกร ผู้บริหาร อยากให้รถไฟความเร็วสูงสายนี้ ให้ความสำคัญ จริงจังกับการมีส่วนร่วมของคนไทย วิศวกรไทย และเด็กๆ ที่สำคัญอย่าเพิ่งรับเทคโนโลยีจากฝรั่ง จีน หรือประเทศต่างๆ แต่อยากให้จริงจังในการทำเทคโนโลยีร่วมกัน

สำหรับคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ประกอบด้วยผู้ทรงวุฒิจำนวน 7 ท่าน ได้แก่ 1.ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 2.ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง 3.ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

4.ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5.ผศ.ดร.อนุรัตน์ อนันทนาธร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา 6.นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี และ 7.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

160102919033

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าของการส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค เพื่อเตรียมส่งมอบพื้นที่ ซึ่งแม้ว่างบประมาณในการรื้อย้ายที่บรรจุอยู่ในงบประมาณประจำปี 2564 ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาจากกรรมาธิการ แต่คาดว่าจะได้รับอนุมัติภายในปลายปีนี้ โดยปัจจุบันทุกหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัทเพื่อเตรียมรื้อย้าย ถือเป็นการทำงานควบคู่ไปก่อนแล้ว และมีการประชุมติดตามความคืบหน้าการเตรียมส่งมอบพื้นที่อีกครั้งเมื่อวันพุธที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่ารองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างเตรียมพื้นที่เพื่อส่งมอบให้เอกชนดำเนินการก่อสร้าง โดยบางส่วนได้ดำเนินการว่าจ้างงานรื้อย้ายไว้แล้ว หากได้รับการจัดสรรงบประมาณก็จะสามารถเร่งรัดดำเนินการได้ทันที ซึ่งตามแผนงานเร่งรัดที่กำหนดไว้ ร.ฟ.ท.จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนภายในเดือน ม.ค. 2564 แต่เนื่องจากยังติดปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณทำให้การส่งมอบออกไปเป็น ก.พ.-มี.ค. 2564 หรือล่าช้า 2-3 เดือน

อย่างไรก็ดี การล่าช้าดังกล่าว ยังไม่กระทบต่อแผนดำเนินการในภาพรวม เนื่องจากยังไม่เกินกำหนดการส่งมอบพื้นที่ส่วนแรกที่ ร.ฟ.ท.กำหนดไว้ในสัญญา คือต้องส่งมอบช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ภายใน 2 ปี หลังลงนามสัญญาหรือภายในเดือน ต.ค. 2564 ดังนั้นปัจจุบันจึงถือว่าล่าช้ากว่าแผนเร่งรัด แต่ไม่ได้ล่าช้าจากข้อกำหนดของสัญญา ดังนั้นจะยังไม่ได้เป็นผลกระทบใดใดกับโครงการ

สำหรับสาธารณูปโภคที่ต้องดำเนินการรื้อย้ายมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประปา ไฟฟ้า ตลอดจนการรื้อย้ายผู้บุกรุก และส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ของกรมป่าไม้ กรมชลประทาน กองทัพเรือ ซึ่งงบประมาณโดยรวมที่ต้องดำเนินการได้เสนอของบประมาณปี 2564 จำนวน 4,100 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับงบประมาณช่วงปลายปี 2563 ขณะที่ความคืบหน้าของการย้ายผู้บุกรุกพื้นที่เขตทางรถไฟ จากที่มีสำรวจตลอดแนวเส้นทางช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มีประมาณ 560 กว่าราย ซึ่งปัจจุบันได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ออกนอกพื้นที่ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2564

ตอนนี้ภาพรวมไม่ได้ล่าช้าไปกว่าเดตไลน์ที่ระบุไว้ในสัญญา เพราะข้อกำหนดคือต้องส่งมอบพื้นที่ภายใน ต.ค.2564 ซึ่งเราเชื่อว่างบรื้อย้ายจะได้รับการอนุมัติภายในปลายปีนี้ และพื้นที่ส่วนแรกที่เราจะออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง (Notice to Proceed: NTP) คือ ช่วงสุวรรณภูมิ –อู่ตะเภา เพื่อให้เอกชนเข้าพื้นที่ได้ ก.พ.-มี.ค.2564

สำหรับการพัฒนาด้านความยั่งยืนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เน้น 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การพัฒนาความยั่งยืนด้านสังคม 2.การพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้ประชาชน ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ และระบบนิเวศน์เชิงเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาสังคมและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมคู่กัน