สินเชื่อ PLoans ไม่มีหลักประกันปี 63...คาดหดตัว 6.0%

สินเชื่อ PLoans ไม่มีหลักประกันปี 63...คาดหดตัว 6.0%

สภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างโจทย์ท้าทายให้กับผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล (PLoans) ทั้งในฝั่งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์

เพราะโจทย์สำคัญไม่ใช่แค่เพียงการปรับกลยุทธ์เข้าถึงลูกค้าเป้าหมายก่อนคู่แข่งเพื่อเพิ่มยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ แต่จะมีเรื่องการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในพอร์ตด้วยเช่นกัน ดังนั้นทิศทางในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 จึงออกมาเป็นภาพของยอดคงค้างสินเชื่อ PLoans ที่หดตัวลงถึง 5% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 โดยสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกันหดตัวลงถึง 7.5% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562

ตามปกติในไตรมาสสุดท้ายของปี มักเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภค รวมถึงสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีประกัน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สถานการณ์ในช่วงสุดท้ายของปีนี้อาจดูแตกต่างไปจากปีอื่นๆ เนื่องจากผู้ประกอบการ PLoans ทั้งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ มีโจทย์สำคัญอย่างน้อย 3 โจทย์ในเวลานี้ ได้แก่ การเร่งช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง การเตรียมความพร้อมรับปัญหาคุณภาพสินเชื่อ และการปรับกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าความเสี่ยงต่ำ

สำหรับแนวโน้มในปี 2563 นั้น จากผลของการดำเนินการในเชิงรุกในการปรับโครงสร้างหนี้และการจัดการปัญหาคุณภาพของสินเชื่อด้วยการตัดขายหนี้เสีย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า NPLs ของสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกันทั้งระบบอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่เกินกรอบ 4.0% ในปีนี้ ขณะที่ผลจากการตัดขายหนี้เสียและสินเชื่อ PLoans ปล่อยใหม่ที่ยังฟื้นตัวในกรอบจำกัด ทำให้สินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกันทั้งระบบ อาจปิดสิ้นปี 2563 ที่ระดับประมาณ -6.0% (พอร์ตของธนาคารพาณิชย์ -13% ส่วนพอร์ตของนอนแบงก์ +0.5%)

สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (PLoans) มีจำนวนบัญชีมากเป็นอันดับที่สองในบรรดาผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยทั้งระบบ โดยมีจำนวนบัญชีคงค้างที่ประมาณ 16.6 ล้านบัญชี เป็นรองบัญชีบัตรเครดิตซึ่งมีอยู่ประมาณ 24.0 ล้านบัญชี แต่หากวัดจากมิติสินเชื่อคงค้าง พบว่า PLoans มียอดคงค้างที่ 5.59 แสนล้านบาท สูงกว่าสินเชื่อบัตรเครดิตที่มียอดคงค้าง 3.99 แสนล้านบาทอยู่ประมาณ 1.4 เท่า ซึ่งสาเหตุหลักๆ คงเป็นผลมาจาก PLoans เป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่ออเนกประสงค์ที่เปรียบเสมือนเป็นที่พึ่งพายามฉุกเฉินและสามารถตอบสนองความต้องการสภาพคล่องสำหรับครัวเรือน-ประชาชนได้หลายกลุ่ม ขณะที่บัตรเครดิตจะมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกด้านการชำระค่าสินค้าและบริการมากกว่า อย่างไรก็ดี วิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีต้นตอมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากจะตอกย้ำปัญหาความเปราะบางของฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน-ประชาชนหลายกลุ่มในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันแล้ว ยังเพิ่มโจทย์ท้าทายให้กับผู้ประกอบการ PLoans ทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ด้วยเช่นกัน

  • สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (PLoans) เผชิญสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทาย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถูกกระทบจากโควิด-19

       สภาวะเศรษฐกิจที่ปรับเปลี่ยนไปจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมี.ค. 2563 ที่ผ่านมา สร้างโจทย์ที่ท้าทายให้กับผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งในฝั่งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ เพราะโจทย์สำคัญจะไม่ใช่แค่เพียงการปรับกลยุทธ์เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ก่อนคู่แข่งเพื่อเพิ่มยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ แต่จะมีเรื่องการเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ PLoans ตามแนวทางของธปท. อาทิ การลดภาระผ่อนต่องวด การเลื่อนเวลาการชำระหนี้ และการรีไฟแนนซ์เป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีดอกเบี้ยต่ำลง

       ดังนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ PLoans ตลอดช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 จึงออกมาเป็นภาพของยอดคงค้างสินเชื่อ PLoans ที่หดตัวลง (-3.5% YTD เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562) ทั้งนี้แม้สินเชื่อ PLoans ที่มีทะเบียนรถเป็นประกันจะยังคงขยายตัวได้ที่ 10.9% YTD แต่สินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกัน (ซึ่งมีขนาดพอร์ตใหญ่กว่า) กลับหดตัวลงถึง 7.5% YTD โดยเป็นที่สังเกตว่า พอร์ต PLoans ที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งฝั่งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์หดตัวลงพร้อมกัน ซึ่งเป็นภาพที่เห็นไม่บ่อยนัก โดยครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเป็นช่วงหลังวิกฤตซับไพร์มของสหรัฐฯ

  • 3 โจทย์สำคัญในช่วงที่เหลือของปี 2563: เร่งช่วยเหลือลูกค้า เตรียมพร้อมรับปัญหาคุณภาพสินเชื่อ และปรับกลยุทธ์เจาะกลุ่มเสี่ยงต่ำ

นับถอยหลังเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภค รวมถึงสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีประกัน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สถานการณ์ในช่วงสุดท้ายของปีนี้อาจดูแตกต่างไปจากปีอื่นๆ เนื่องจากผู้ประกอบการ PLoans ทั้งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ มีโจทย์สำคัญอย่างน้อย 3 โจทย์ในเวลานี้ ได้แก่

  • การเร่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าและปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สินเชื่อส่วนบุคคลน่าจะมีจำนวนบัญชีสูงเป็นอันดับต้นๆ ของจำนวนบัญชีลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ ซึ่ง ณ สิ้นเดือนก.ค. 2563 มียอดรวมอยู่ที่ 5.74 ล้านบัญชี (ยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือฯ 1.863 ล้านล้านบาท)

            และเมื่อดูจากพอร์ตของธนาคารพาณิชย์ จะพบว่า ยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือของสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตรวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 23% ของสินเชื่อรวม ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนบัญชีอย่างน้อย 1.5 ล้านบัญชีที่ได้รับความช่วยเหลือฯ ดังนั้นความท้าทายของโจทย์นี้จะอยู่ที่ความรวดเร็วของการปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ การปรับลดภาระผ่อนต่อเดือน การรีไฟแนนซ์แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ หรือเป็นสินเชื่อระยะยาวผ่านมาตรการรวมหนี้ (Debt Consolidation) ซึ่งมีข้อจำกัด เพราะสามารถให้การช่วยเหลือได้เฉพาะลูกหนี้ที่มีสินเชื่อไม่มีหลักประกันกับสินเชื่อบ้านอยู่กับสถาบันการเงินเดียวกันเท่านั้น นอกจากนี้รูปแบบของการปรับโครงสร้างหนี้และภาระหนี้ภายใต้สัญญาใหม่ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระคืนหนี้ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับกระแสรายได้ของลูกหนี้แต่ละรายเป็นสำคัญด้วยเช่นกัน

  • การเตรียมความพร้อมรับปัญหาคุณภาพสินเชื่อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีจะยังคงเห็นผู้ประกอบการทั้งในฝั่งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ทยอยตัดขายพอร์ตหนี้เสียเพื่อลดภาระในการตั้งสำรองฯ ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับแนวโน้มหนี้ด้อยคุณภาพที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคตหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่างๆ ทยอยสิ้นสุดลง

            จากผลของการปรับโครงสร้างหนี้และการตัดขายหนี้เสีย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 3.5-4.0% (เทียบกับ 3.5% ณ สิ้นปี 2562) โดยอาจเริ่มเห็นการแก้ไขปัญหาหนี้เสียจากฝั่งนอนแบงก์ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากที่เกณฑ์ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ส่งผลทำให้ไม่สามารถเร่งตัดขายหนี้เสียในช่วงที่ผ่านมาได้

  • ปรับกลยุทธ์ชิงส่วนแบ่งตลาด เจาะกลุ่มเสี่ยงต่ำเพื่อเพิ่มรายได้ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่เริ่มคลี่คลายลง ทำให้สัญญาณการกลับมาแข่งขันในตลาดสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกันเริ่มก่อตัวขึ้น แม้ว่าพอร์ต PLoans ของธนาคารพาณิชย์จะมีสัดส่วนไม่สูงประมาณ 1.6% ของสินเชื่อรวม แต่ก็ให้ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ และยังเป็นพอร์ตที่มีศักยภาพ หากสามารถดูแลปัญหาหนี้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การกลับมาแข่งขันด้านราคา ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่สร้างสีสันให้กับแคมเปญสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกัน โดยเฉพาะการนำเสนอแคมเปญสินเชื่อเงินก้อนดอกเบี้ยปีแรกอยู่ในระดับต่ำประมาณ 9-15% ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด การเปลี่ยนวงเงินในบัตรที่เหลือเป็นสินเชื่อเงินก้อนในอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงประมาณ 10-16% (ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ หรือช่องทางออนไลน์) ตลอดจนการรีไฟแนนซ์เพื่อเปลี่ยนเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำลงมาที่ไม่เกิน 22% ตามมาตรการช่วยเหลือฯ อย่างไรก็ดี สภาพการแข่งขันน่าจะเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บนเพื่อจำกัดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้กู้ ขณะที่การแข่งขันในกลุ่มลูกค้าที่ฐานเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนน่าจะชะลอลงตามเกณฑ์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าที่ถดถอยลงตามภาวะเศรษฐกิจ

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การหดตัวของพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (PLoans ที่ไม่มีหลักประกัน) นับตั้งแต่ต้นปี 2563 สะท้อนผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อสินเชื่อปล่อยใหม่ และการตัดขายหนี้เสียเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาในเชิงรุก โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นภาพกลับด้านจากที่มีการเร่งปล่อยสินเชื่อมากในปี 2562 ที่ผ่านมา และสำหรับในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 นั้น คาดว่า ภารกิจของธนาคารและนอนแบงก์ในการเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้และสกัดการเร่งตัวของสินเชื่อด้อยคุณภาพอาจเป็นโจทย์ที่ยากมากขึ้น เนื่องจากจะต้องเตรียมการสำหรับการรับรู้สถานการณ์ลูกหนี้ที่จะทยอยพ้นจากมาตรการช่วยเหลือในระยะข้างหน้า ขณะที่มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อใหม่อาจต้องรัดกุมและมีการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้อย่างรอบคอบ เพราะเมื่อเศรษฐกิจเผชิญภาวะชะลอตัวเป็นเวลานานย่อมมีผลกระทบต่อเนื่องมายังความมั่นคงทางด้านรายได้ การมีงานทำ และความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกันอาจหดตัวลงประมาณ 6.0% ในปี 2563 (พอร์ตของธนาคารพาณิชย์ -13% ส่วนพอร์ตของนอนแบงก์ +0.5%) ขณะที่สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อ PLoans ที่ไม่มีหลักประกันทั้งระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.5-4.0% เทียบกับ 3.5% ณ สิ้นปี 2562

อย่างไรก็ดี สินเชื่อส่วนบุคคลจะยังคงเป็นเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของทั้งธนาคารและนอนแบงก์เพื่อช่วยประคองทิศทางรายได้ดอกเบี้ย โดยนอนแบงก์อาจชะลอการขยายพอร์ตสินเชื่อสำหรับกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูง และขยับขึ้นมาใช้กลยุทธ์ด้านราคาสำหรับลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลางซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ขณะที่ผู้ประกอบการฝั่งธนาคารจะมีจุดเด่นในด้านการพัฒนาแพลตฟอร์ม/แอปพลิเคชัน ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาโมเดลการปล่อยกู้ผ่านช่องทางดิจิทัล (แม้จะยังอยู่ในระยะเริ่มต้นทดลอง) ขึ้นมาเสริมการทำตลาดผ่านช่องทางแบบเดิม รวมถึงการนำเสนอแคมเปญพิเศษให้กับลูกค้าเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นกับธนาคาร หรือกลุ่มลูกค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มของพันธมิตร ซึ่งจะใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่เชื่อมต่อกัน เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิต