‘วิชา มหาคุณ’ ร่องชีวิต รอยอาชญากร

‘วิชา มหาคุณ’  ร่องชีวิต รอยอาชญากร

การอ่านสำนวนคดีเป็นตั้งๆ คงไม่สนุกเท่าอ่านมังกรหยก จึงต้องทำใจให้เบิกบาน เพื่อจะได้ประติดปะต่อเรื่องราวได้เป็นฉากๆ  และนี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวนักกฎหมายที่ได้รับมอบหมายให้รื้อ"คดีบอส-วรยุทธ อยู่วิทยา"

หลังจากแถลงสรุปผลสอบข้อเท็จจริง คดีอาญา บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ส่งไปให้รัฐบาลแล้ว ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน แม้จะหมดภาระกิจแล้ว แต่ยังมีภาระที่ใหญ่กว่า ก็คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยถอดบทเรียนจากคดีบอส

“ผมบอกเขาว่า ถ้าให้ผมตรวจสอบคดีนี้เฉยๆ ผมไม่เอานะ การทำคดีนี้ต้องนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ผมถึงรับทำ” วิชา เล่า

เหตุใดนักกฎหมายวัย 74 ปีที่เคยเป็นทั้งอัยการ ผู้พิพากษา ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ฯลฯ ยังทำงานมากมาย 

ทั้งๆ ที่ช่วงวัยแบบนี้ น่าจะพักผ่อนได้แล้ว แต่ด้วยความรู้ความสามารถ และความจำที่ยอดเยี่ยม เขาบอกว่า

“ผมยึดหลักที่ลี กวนยู บอกว่า ทำอะไรแล้วรู้สึกว่าตัวเรามีประโยชน์ เราจะมีชีวิตอยู่นาน ถ้ารู้สึกว่าตัวเราไร้ค่า เราจะอยู่ได้ไม่นาน”

 แม้การพูดคุยครั้งนี้ จะเน้นที่ชีวิตและความคิดของนักกฎหมาย แต่ก็คงต้องคุยเรื่องคดีบอสด้วย และคงไม่พาผู้อ่านเวียนหัวกับภาษากฎหมาย...

    

พอจะสรุปผลสอบข้อเท็จจริงคดี‘บอส’ให้ฟังอีกสักนิดได้ไหม

ถ้าถามว่า พวกเขาวางแผนกันยังไง พวกเราเรียกว่าทฤษฎีสมคบคิด เป็นกระบวนการสมยอมกัน เพื่อให้‘บอส’พ้นผิดทางอาญา โดยถือว่าเป็นความไม่สุจริต พฤติกรรมผิดปกติ

ช่วงที่ได้รับมอบหมายให้ทำคดีนี้ ทำงานหนักไหม

ผมเคยเป็นอัยการ ผู้พิพากษารวมๆ 30 กว่าปี และเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ทำคดีมาเยอะ เรารู้กระบวนการว่า ใครโกหกหรือพูดจริง พูดตรงๆ ผมมองเห็นภาพ ผมไม่ได้เก่ง แต่ผมทำงานมาหลากหลาย โดยเฉพาะระบบไต่สวนที่ใช้สำหรับคดีทุจริต 9 ปีที่เราคลุกคลีกับคนทุจริต บางทีโกหกซึ่งๆ หน้า เราก็ขำในใจแต่ไม่พูด เพราะเราต้องการความจริง และไม่ว่าจะโกหกยังไงก็ต้องมีหลุดบ้าง เหมือนที่เขาบอกว่า อาชญากรรมมีร่องรอยเสมอ เวลาเราตรวจสอบเรารู้ แม้กระทั่งการสร้างวันที่เป็นเท็จ

เป็นความผิดปกติที่เห็นได้ชัดในคดีบอส ?

ทำไมคดีขับรถชนคนตายโดยประมาทใช้เวลาทำคดี 7-8 ปี ปกติคดีแบบนี้ทำไม่เกินปี เหมือนภาษิตกฎหมายโรมันว่าไว้  “justice delayed is justice denied” ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือความไม่ยุติธรรม อะไรก็ตามที่มีการถ่วงเวลา ไม่ว่าจะถ่วงเวลาแบบไหน มันเห็นร่องรอย

160102530514

ความโดดเด่นของคดีนี้คือเรื่องใดคะ

เรื่องการวางแผน แจกงานว่า ใครจะต้องทำอะไร การร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาคือจุดอ่อนที่สุดของคดีนี้ ตามหลักการแล้ว อัยการสร้างระเบียบแบบแผนไว้แต่ไม่มีข้อกำหนดว่า จะร้องขอได้กี่ครั้ง ร้องขอแล้วสิ้นสุดลงเมื่อไร กรณีคดี‘บอส’มีการร้องขอความเป็นธรรม 14 ครั้ง และประสบความสำเร็จครั้งสุดท้าย

ศาลฎีกาเคยวางมาตรการไว้ว่า พยานหลักฐานครั้งแรกน่าเชื่อถือที่สุด ไม่ใช่พยานหลักฐานชั้นสอง อีกประเด็นคือ การสร้างหลักฐานเท็จความเร็วในการขับรถ ตอนแรกมีผู้เชี่ยวชาญมาอธิบาย แต่เป็นความเชี่ยวชาญคำนวณบนกระดาษไม่ใช่เชี่ยวชาญบนถนน สรุปคือ ขับด้วยความเร็ว 177 กิโลเมตร

คนที่วางแผนแบบนี้ได้ คงมีเชี่ยวชาญมาก ?

ต้องเป็นทนายความ ต้องรู้กระบวนการทั้งหมด ตำรวจคงไม่มีความรู้ขนาดนี้ ซึ่งการตั้งรูปคดีมีความสำคัญมาก เราเห็นก็รู้แล้ว ดาบตำรวจตายคาที่บนท้องถนน ยังถูกตั้งรูปคดีให้เป็นผู้ต้องหากระทำความผิดในฐานะขับขี่รถประมาทร่วม แบบนี้ผิดปกติไหม แล้วคนตายต่อสู้ได้ไหม วิญญาณไปไหนแล้วไม่รู้ แบบนี้คุณรังแกคนตายไหม

คดีแบบนี้จะโดนข้อหาอย่างไร

อย่างน้อยๆ ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่และประพฤติมิชอบ เป็นคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 172 โดยมีพฤติการณ์บีบบังคับกดดันให้พยานผู้เชี่ยวชาญในคดีบอส สร้างพยานหลักฐานซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง เพื่อช่วยบอสให้หลุดพ้นจากคดี จึงเข้าข่ายกรณีทุจริตประพฤติมิชอบ

ระบบไต่สวนที่ใช้ในคดีนี้เป็นแบบไหน

เป็นระบบไต่สวนแบบฝรั่งเศสที่ผู้พิพากษาเป็นผู้ค้นหาความจริง การค้นหาความจริงที่ผมเคยดำเนินการในคดีทุจริตก็ดำเนินการในฐานะของป.ป.ช. อย่างคดีจำนำข้าว ซึ่งในระบบศาลยุติธรรม กระบวนการค้นหาความจริงแบบนี้ไม่มี

เพราะเราใช้ระบบกฎหมายการกล่าวหาตามแบบอังกฤษตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากระบบกล่าวหา ถ้ามีเหตุสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์ความสงสัยให้จำเลย แล้วยกฟ้องให้จำเลยพ้นผิดได้ ระบบแบบนี้มันไม่ยุติธรรม ตอนนี้ทั่วโลกใช้ระบบผสมผสาน ไม่ใช่ว่าผู้พิพากษานั่งเฉยๆ แล้วให้ทนายสองฝ่ายสืบพยานเอง จากนั้นชั่งน้ำหนักของพยาน

กฎหมายในโลกที่ใช้อยู่ อย่างกฎหมายทางฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ผู้พิพากษาสามารถค้นหาความจริงจนกว่าจะสิ้นสงสัย สามารถเรียกพยานของตัวเองมาได้ เพื่อสอบสวนว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริงไหม ถ้าทำไม่จริงก็ยกฟ้อง ระบบการสอบสวนแบบนี้ ใครที่เป็นป.ป.ช.ต้องคุ้นกับเรื่องนี้

ถ้าเป็นผู้ไต่สวนจะสังเกตพิรุธผู้ต้องหาอย่างไร ?

นักไต่สวนต้องรู้ภาษากาย ประมาณว่า หน้าซีด เหงื่อแตก พูดติดๆ ขัดๆ พูดคำ ขอดื่มน้ำอึกหนึ่ง จะมีอาการแสดงชัดเจน หรือถามแล้วไม่ยอมตอบ นั่งนิ่งๆ ตลอดเวลา

ผู้กระทำความผิดบางคนอาจเก็บอาการได้?

ผมบอกแล้วไง อาชญากรรมมักทิ้งร่องรอยไว้เสมอ กระบวนการไต่สวนของอังกฤษ แม้กระทั่งโต๊ะนั่ง ยังทำเป็นรูปสามเหลี่ยม เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง การนั่งแบบนั้นถูกบีบให้คิดไม่ออก ระบบของเขาเป็นการซักไซ้มีข้อมูลพร้อม 

กระบวนการเหล่านี้คือผู้พิพากษาและคนไต่สวนต้องทำหน้าที่เป็นนักสืบด้วย ที่ฝรั่งเศสมีผู้พิพากษาลงมาสอบสวนเอง ไม่ใช่ตำรวจสอบสวน เพราะตำรวจไม่ได้มีความรู้แบบผู้พิพากษา ตำรวจทำได้แค่จดแล้วก็ถามตอบไปเรื่อยๆ

ถ้าจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องปฏิรูประบบการสืบสวนของตำรวจด้วยใช่ไหม

ควรปฏิรูปมานานแล้ว พวกเขาไม่ยอมปฏิรูปตัวเอง เพราะเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจและมีอาวุธในมือ หลายประเทศคล้ายเรา ในฮ่องกงกว่าจะปฏิรูปองค์กรตำรวจให้ปราศจากการทุจริตได้ คุณรู้ไหม 30 ปีที่แล้วแม่ค้าถูกจับทุกวัน จนทนไม่ไหวไปนั่งร้องไห้หน้าสถานีตำรวจ มีพันๆ เรื่องในกรณีเรียกไถ่เงินจนมีการตรวจสอบ มีการไล่ตำรวจทุจริตออก จนพวกเขาสุมหัวกันลาออกทั้งกรม และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ฮ่องกงมีการชำระล้างเรื่องนี้ รับตำรวจใหม่เข้ามา

ตอนนี้คณะกรรมการที่ทำงานร่วมกัน เราเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็น อย่าง ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน),รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และอีกหลายคน มาออกความเห็นเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

160102536223

การรื้อโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

ระบบการสอบสวนจะปล่อยให้ตำรวจทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะมีข้อบกพร่อง ไม่ควรปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป ถ้าบอกว่า นั่นนี่ก็ไม่ดี แล้วจะได้ปฏิรูปไหม

หลายคนบอกว่ากระบวนการกฎหมายบ้านเราแย่ อาจารย์มีความเห็นอย่างไรคะ

กฎหมายประเทศไทยดีที่สุด ผมพูดเสมอ แต่คนใช้กฎหมายมีปัญหา โดยเฉพาะระบบพรรคพวก วัฒนธรรมไทยคือระบบอุปถัมภ์ ทั้งๆ ที่ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา คนยากจนรู้สึกว่าพวกเขาถูกย่ำยีโดยคนร่ำรวย บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา เป็นตัวแทนคนร่ำรวยมหาศาล ความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศนี้ไม่ใช่แค่ฐานะทางเศรษฐกิจ ยังรวมถึงความอยุติธรรม เหมือนที่เขาบอกว่า คุกมีไว้ขังคนจน คนรวยทำอะไรก็ไม่ผิด

ตอนนี้บนท้องถนนไม่ได้มีแค่พวกเรา เยาวชนคือตัวแทนในอนาคต มีที่ไหนเด็กมัธยมปีที่ 1-3 เดินขบวน เด็กอนุบาลชูสามนิ้ว แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำมันถึงขีดสุดแล้ว เป็นความเหลื่อมล้ำที่ไม่ได้แสดงออกทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรมกัดเซาะเข้าไปแม้กระทั่งโรงเรียน ถ้าคุณสอนเด็กจนๆ คุณเขกหัวมันได้ แต่ถ้าเป็นลูกคนรวย อุปถัมภ์โรงเรียน ครูกล้าไหม ความเหลื่อมล้ำที่แย่ที่สุดอยู่ในครอบครัว เด็กมีสิทธิไหมที่จะบอกพ่อแม่ว่า หนูอยากเรียนด้านนั้นด้านนี้ 

 

ทำไมสนใจเรื่องเด็กและเยาวชนมากเป็นพิเศษ

ไม่มีปราชญ์คนไหนที่สร้างสิ่งดีงามให้แก่โลกโดยไม่สนใจเรื่องเยาวชน สิทธิเด็ก การต่อสู้ของเด็ก หนังสือที่ผมอ่านแล้วประทับใจมากที่สุดคือ เมาคลีลูกหมาป่า เพราะกระบวนการกล่อมเกลาหรือกระบวนการสร้างมนุษย์ เด็กเป็นกุญแจสำคัญของโลก 

ถ้าเราจะเปลี่ยนประเทศ เราต้องเปลี่ยนรากฐานการศึกษาตั้งแต่เยาวชน ตั้งแต่ผมมาทำงานที่ศาล ผมเห็นภาพเด็กที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา กินนอนบนท้องถนน ซุกหัวนอนในตลาด ไม่มีตุ๊กตาเล่น ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แล้วโดนกล่าวโทษว่าขี้ลักขี้ขโมย เด็กพวกนี้เคยมายืนต่อหน้าผม แล้วถูกนำตัวเข้าห้องขัง ก็เลยเรียกศาลเยาวชนว่า คุกเด็ก 

สมัยก่อนศาลเยาวชนมีสามสี่แห่ง ผมเสนอให้มีทั่วประเทศ ผมไม่อยากให้เด็กถูกควบคุมตัวแบบผู้ใหญ่ ถ้าให้พวกเขาติดคุกแบบผู้ใหญ่ แล้วพวกเขาจะเป็นคนดีได้ไหม เมื่อก่อนเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ เด็กที่ถูกข่มขืน เวลาถูกพิจารณาคดี เบิกความตัวสั่นต่อหน้าศาล ปัจจุบันเรามีห้องพิจารณาคดีที่เด็กอยู่กับนักจิตวิทยาและนักสังคมสังเคราะห์ ไม่ต้องเผชิญหน้ากับทนายความ นี่คือการปฏิรูปพยานเด็กที่ถูกกระทำทารุณกรรม

ตอนที่ผมได้รับเชิญให้ไปดูงานที่อเมริกาบ้าง นอร์เวย์บ้าง หรือสวีเดน พวกเขาปฏิบัติต่อเด็กกระทำผิดแบบให้เกียรติ จัดสถานที่ให้เด็กๆ เล่นกีฬา ฝึกงานศิลปะ สังสรรค์กัน เด็กที่กระทำผิดสามารถเล่นฟุตบอลกับเด็กทั่วไป พวกเขาเป็นเพื่อนกัน ดังนั้นก่อนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้ใหญ่ ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กก่อน 

เยาวชนคนรุ่นใหม่ออกมาชูสามนิ้ว เรียกร้องความเป็นธรรม อาจารย์มีความเห็นอย่างไรคะ

     เป็นไปตามยุคสมัย เพราะที่ผ่านมาเราไม่ให้โอกาสพวกเขามีส่วนร่วมในกระบวนการเมืองโดยเฉพาะในโรงเรียน ตอนเด็กๆ ผมได้เรียนรู้การเมืองการปกครองต้วยตัวผมเอง ผมชื่นชมครูบาอาจารย์ที่ให้เด็กปกครองกันเอง ผมเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานักเรียน เป็นตุลาการตั้งแต่เด็กๆ เคยตัดสินเพื่อนที่สูบบุหรี่

160102543334  

ไม่ตำหนิเยาวชนเหล่านั้น ? 

ถ้าจะตำหนิ ก็คงเรื่องทำเกินกว่าขีดที่ควรทำ อาทิ พูดจาหยาบคายในที่สาธารณะ ถ้าเด็กต้องการมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมคนอื่น คุณต้องมีหน้าที่่เช่นเดียวกัน ถ้าไปเอาอย่างคนไม่ดีหรือนักการเมืองไม่ดี ทำอย่างนั้นเท่ากับลดตัวเอง

ในวัย74 ปี ยังเป็นทั้งคณบดีคณะนิติศาสตร์ และทำงานปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เอาพลังมาจากไหนคะ

ผมปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิ ตอนบวชผมเคยนั่งสมาธิได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่เข้าห้องน้ำ จริงๆ แล้วไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์ โยคีสามารถนั่งสมาธิแบบนี้ได้เป็นอาทิตย์ ตอนนี้ถ้าจะนั่งสมาธิก็ระหว่างทำงาน อยู่ที่ไหนผมก็กำหนดจิต ตามลมหายใจได้

ผมยึดหลักที่ลีกวนยูบอกว่า “ทำอะไรแล้วรู้สึกว่า ตัวเรามีประโยชน์ เราจะมีชีวิตอยู่ได้นาน ถ้ารู้สึกว่า ตัวเราไร้ค่า เราจะอยู่ได้ไม่นาน” มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อายุ 90 กว่า ก็บอกว่า “อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป หายใจทิ้งไปวันๆ ต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์”

ดูแลสุขภาพอย่างไร

ผมเดินเป็นหลัก เช้าๆ เดินไปตลาด ไปใส่บาตร ได้ดูชีวิตผู้คนและได้ทำบุญ

เห็นบอกว่า เป็นคนอ่านหนังสือเร็วมาก ?  

ผมฝึกการอ่านตั้งแต่เด็กๆ เคยอ่านหนังสือหนาๆ หมดเล่มในสองชั่วโมง อ่านครั้งแรกไม่ต้องอ่านทุกตัวอักษร อ่านครั้งที่สองจับใจความ ถ้าอ่านจับใจความจริงๆ อ่าน 3 รอบ หนังสือผมจะขีดเส้นไว้

ผมสามารถอ่านหนังสือ10 เล่มภายในวันเดียวและอ่านทุกหน้า เพราะชีวิตผมต้องอ่านสำนวนคดีที่มีอยู่เต็มห้อง และบ้านผมหนังสือเยอะมาก จนต้องยกให้ห้องสมุด อย่างห้องสมุดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนใหญ่เป็นหนังสือของผม

มีเคล็ดลับในการอ่านสำนวนคดีอย่างไรคะ

จะพิจารณาคดี หรือ จับใจความไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้อ่านสำนวนอย่างละเอียด และระหว่างอ่านต้องวางประเด็นในหัวให้ชัด ต้องทำใจให้เบิกบาน ทำตัวให้ตื่นเต้นทุกวัน และต้องมาที่ทำงานอย่างมีความสุข

เหตุผลนี้หรือเปล่าที่ทำให้ไม่มีปัญหาสมองเสื่อม

 ถ้าเรื่องหนังสือ ผมจะวางไว้เลยว่า วันนี้จะอ่านหนังสือกี่เล่ม ถ้าอ่านแบบเข้าถึงเนื้อหา ผมเคยอ่านหนังสือสิทธารถะ ของแฮร์มัน เฮ็สเซอ ผลงานนักเขียนเยอรมัน หรือชีวประวัติของข้าพเจ้า ของมหาตมะคานธี รวมถึงหนังสือคาลิล ยิบราน อ่านแล้วรู้สึกดื่มด่ำ ผมชอบเขียนบทกวี วาดภาพสีน้ำและอยู่กับดอกไม้ นี่คือการพักผ่อนของผม จริงๆ แล้วผมไม่ได้อยากเป็นนักกฎหมาย แต่คุณแม่อยากให้เป็น ผมอยากเป็นนักอักษรศาสตร์ เขียนบทกวีและวาดสีน้ำ

เคยอ่านหนังสือได้มากที่สุดวันละกี่เล่ม

เคยอ่านมังกรหยกทั้งชุดวันเดียว ปกอ่อนเป็นร้อยๆ เล่ม อ่านจนจบไม่นอนเลย สามารถเล่าได้เป็นฉากๆ

มีคนบอกว่า นักกฎหมายมักมีคารมคมคาย อาจารย์คิดเห็นอย่างไร 

ไม่มีมนุษย์คนไหนที่จะอนุรักษ์นิยมเท่านักกฎหมาย เพราะติดยึดกับของเก่า กฎหมายที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นของเก่า ปรับเปลี่ยนไม่มาก รู้ไหมคนที่อนุรักษ์มากๆ เลยในโลกนี้ ก็คือ ตุลาการ ความคิดจะไม่มีวันเปลี่ยน เพราะอยู่กับกฎหมายและชี้ผิดชี้ถูกทุกวัน จนเป็นนิสัย

160102602159

มีลูกคนไหนเดินตามรอยพ่อบ้างคะ

ลูกสาวผมเป็นกัปตันขับเครื่องบินข้ามมหาสมุทร ลูกชายเป็นนักวิเคราะห์ในตลาดหลักทรัพย์ เด็กรุ่นใหม่ฉลาด ผมถึงเคารพคนรุ่นใหม่ เวลาพวกเขาพูดอะไรออกมา มันไม่ธรรมดา พวกเขาอยู่คนละยุคกับเรา เด็กรุ่นใหม่คือเด็กที่เราต้องรับฟัง และไม่ใช่รับฟังเฉยๆ ต้องรับฟังอย่างตั้งใจ

ตอนนี้พ่อแม่(บางคน)โกรธที่ลูกออกมาประท้วงบนท้องถนน อาจารย์มีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร

เราต้องรู้ต้นทุนของเขา เขาอยู่ในยุคดิสรัปชั่นและออนไลน์ ขณะที่เราเข้านอนแล้ว ลูกยังนั่งเล่นเกมข้ามประเทศกับคนที่อเมริกา แล้วเราจะเข้าใจพวกเขาไหมเนี่ย