สั่งด่วน 'กรมทะเล' ออกมาตรการเข้มแหล่งปะการัง 4 จว. - คุ้มครองเกาะพยาม มีผลแล้ววันนี้

สั่งด่วน 'กรมทะเล' ออกมาตรการเข้มแหล่งปะการัง 4 จว. - คุ้มครองเกาะพยาม มีผลแล้ววันนี้

"วราวุธ" รมว.ทส. สั่งด่วน "กรมทะเล" ออกมาตรการเข้ม 2 ฉบับ รักษาแหล่งปะการัง 4 จังหวัด คุ้มครองเกาะพยาม ฉายามัลดีฟเมืองไทย ป้องกันภัยคุกคาม มีผลแล้ววันนี้

จากกรณีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในหลายพื้นที่ ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งประกาศคำสั่งคุ้มครองแหล่งปะการังและหญ้าทะเลในพื้นที่เกาะพยาม จังหวัดระนอง และแหล่งกองหินใต้น้ำ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัตตานี พังงา และกระบี่ พร้อมมาตรการคุมเข้มกิจกรรมส่งผลกระทบต่อปะการัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เผยแหล่งปะการังสมบูรณ์ของประเทศเหลือเพียง 5.7% ต้องร่วมกันดูแลก่อนเสื่อมโทรม ด้านปลัดกระทรวง ทส. สั่งเร่งสำรวจสถานภาพปะการังทั่วประเทศ หากมีภัยคุกคามต้องเร่งดำเนินการหามาตรการป้องกันทันทีก่อนที่ปัญหาจะเกิดกับตัวทรัพยากร ซึ่งจะทำให้แก้ไขได้ยากมาก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในวันนี้ (25ก.ย.) ว่า ตนได้มีโอกาสไปดำน้ำบริเวณเกาะเต่า และอีกหลายพื้นที่ นอกจากความสวยงามของแหล่งปะการังในแต่ละพื้นที่ ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละแห่งแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ตนพบเห็น ทั้งที่ไม่อยากเห็น คือ ขยะพลาสติก เศษเชือกและเศษอวน ที่ติดอยู่ตามแหล่งปะการัง นอกจากไม่สวยงามแล้ว เศษเชือก เศษอวนเหล่านี้ที่เกิดจากการทำประมงโดยใช้ลอบ อวน ในการจับปลาและเป็นสาเหตุของการเกี่ยว ลาก ทำให้ปะการังหักและตาย รวมทั้ง มลพิษต่าง ๆ ที่ปล่อยลงทะเล ปะการังซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสิ่งเหล่านี้ หากไม่รีบปกป้อง คุ้มครอง เราคงไม่เหลือปะการังที่สวยงามไว้ให้ลูกหลานได้เห็นเป็นแน่

160101858222

อย่างไรก็ตาม ต้องเร่งดำเนินการในพื้นที่เร่งด่วนก่อน เช่น เกาะพยาม และแนวปะการังในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัตตานี พังงา และกระบี่ สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนต้องให้ความสำคัญและพึงระลึกถึงตลอดเวลาว่า”ปะการังเป็นสัตว์ที่ไม่มีอาวุธติดตัว อาจมีบางชนิดที่มีเข็มพิษไว้ป้องกันตัว โลกนี้จะมีมนุษย์สักกี่คนที่ตายเพราะปะการัง แต่ปะการังจำนวนนับไม่ถ้วนที่ตายเพราะมนุษย์ ปะการังยังเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวและอ่อนแอ เพียงแค่อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง มลพิษที่ปนเปื้อน กิจกรรมที่ขาดจิตสำนึก ก็พร้อมที่จะทำร้ายปะการัง” แหล่งปะการังทั้งประเทศ 149,000 ไร่ เหลือที่สมบูรณ์เพียง 5.7% ที่เหลือก็ได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย บางแหล่งแทบไม่หลงเหลือความสวยงามของปะการังไว้เลย ถ้าเราไม่ร่วมกันดูแลปะการังในวันนี้ ใต้ท้องทะเลคงเหลือแค่ผืนทรายว่างเปล่าหรือกองหินโสโครกที่ไร้ความสวยงามและสมบูรณ์ ให้ลูกหลานได้ชม ทั้งนี้ ตนได้มอบให้นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการ กำกับ ติดตามและรายงานผลเรื่องนี้ให้ตนทราบอย่างต่อเนื่อง

160101859523

ในเรื่องนี้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนได้เร่งรัดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำรวจและประเมินสถานภาพปะการังทั่วประเทศ พร้อมให้จัดลำดับความสำคัญ หลายพื้นที่ต้องประกาศมาตรการเร่งด่วน เช่น เกาะพยาม จังหวัดระนองที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นมัลดีฟ เมืองไทย เกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี เกาะดอกไม้ จังหวัดพังงา กองหินแดง จังหวัดกระบี่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตนได้ย้ำกับอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่า พื้นที่ใดสำคัญเร่งด่วนให้ดำเนินการทันที ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ต้องเร่งสำรวจและกำหนดมาตรการก่อนที่ปัญหาจะเกิดกับตัวทรัพยากร ซึ่งจะทำให้แก้ไขได้ยากมาก

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศทางทะเลมีลักษณะที่จำเพาะและยากต่อการฟื้นตัวโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งปะการัง ที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนับสิบปี ในแต่ละพื้นที่จะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ซึ่งมักจะเกิดจากกิจกรรมมนุษย์แทบทั้งสิ้น ในการนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ประกาศคำสั่ง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา17 แห่งพรบ.ทช.พร้อมวางมาตรการในการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 2 ฉบับ ตามสาเหตุและปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรและระบบนิเวศ โดยฉบับแรก ได้กำหนดมาตรการสำหรับการทำกิจกรรมในพื้นที่เกาะพยาม อำเภอเมือง จังหวัดระนอง โดยห้ามมิให้จอดเรือโดยการทิ้งสมอหรือทอดสมอบริเวณแนวปะการัง ห้ามให้อาหารสัตว์เพื่อล่อ จับ หรือเก็บสัตว์น้ำ รวมทั้ง ห้ามเท ทิ้ง ระบายของเสีย ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลหรือสิ่งอื่นใด ที่ก่อให้เกิดมลพิษ ห้ามทำตะกอนใต้น้ำฟุ้งกระจายจนส่งผลกระทบต่อปะการังและหญ้าทะเล

สำหรับพื้นที่กองหินใต้น้ำในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัตตานี พังงา และกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังที่สำคัญของประเทศ ที่ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเนื่องจากการทำประมง โดยได้กำหนดห้ามทำการประมง ลอบ และอวนทุกชนิด ในบริเวณแนวปะการังในพื้นที่กองหินชุมพร กองหินวง เกาะกงทรายแดง กองหินตุ้งกู กองหินใบ กองหินเกาะว่าว เกาะตุ้งกู เกาะตุ้งกา อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี กองหินหมูสัง เกาะดอกไม้ อำเภอเกาะยาว กองหินอีแต๋น อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และกองหินแดง จังหวัดกระบี่

อย่างไรก็ตาม ประกาศคำสั่งฉบับนี้ ยกเว้นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการวิจัย ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีก่อน สำหรับโทษหากมีผู้กระทำผิดตามคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ คำสั่งทั้ง 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563

หากพบการกระทำผิดในพื้นที่ดังกล่าว สามารถแจ้งสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่รับผิดชอบในพื้นที่ หรือช่องทางอื่น ๆ ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีทช.กล่าวชี้แจงมาตรการ

160101864188

160101865647