พาณิชย์ เดินหน้าโครงการประกันรายได้ปี 2

พาณิชย์ เดินหน้าโครงการประกันรายได้ปี 2

“จุรินทร์”ประกาศต่อหน้าเกษตรกร 3,000 คน ประกันรายได้พืชเกษตร 5 ชนิดปีที่ 2 พร้อมเดินหน้าต่อ ครอบคลุมเกษตรกร 7.67 ล้านราย วงเงินงบประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท ลั่นทำต่อจนครบ 4 ปีตราบเท่าอายุรัฐบาล โวโครงการประกันปีที่ 1 มีเกษตรกรได้ประโยชน์แล้ว 3.6 ล้านราย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเป็นประธานสัมมนาเกษตรกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกว่า 3,000 คน ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรและมาตรการคู่ขนาน 5 สินค้า หรือประกันรายได้ปีที่ 2 ปีการผลิต 2563/64) ของรัฐบาล ว่า นโยบายประกันรายได้เป็นนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา จะผูกพันรัฐบาลชุดนี้ไปตลอด 4 ปี เพราะฉะนั้นประกันรายได้ปีหน้าและปีต่อไปจะยังคงอยู่ ตราบเท่าที่มีรัฐบาลชุดนี้ และขอฝากกับพวกเราว่าที่พูดมานี้เป็นนโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงพาณิชย์นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้ช่วยเป็นทัพหน้าไปขยายผลแจ้งเพื่อนเกษตรกรได้รับทราบข้อมูลด้วย เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อเท็จจริงให้พวกเราได้รับทราบและเข้าใจนโยบายของรัฐบาล นโยบายกระทรวงพาณิชย์ และนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มากขึ้น

สำหรับโครงการประกันรายได้ปีที่ 2 ขณะนี้มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ส่วนข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ถัดไป โดยจะครอบคลุมเกษตรกร 7.67 ล้านครัวเรือน วงเงินงบประมาณรวม 75,017.66 ล้านบาท เป็นวงเงินชดเชยส่วนต่าง 71,844.05 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าบริหารจัดการ   

  160101736159       

 “การผลักดันโครงการประกันรายได้ปีที่ 2 เป็นความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล เพราะหนึ่งปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลชุดนี้ ทำได้ไวทำได้จริง โดยหลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2562 ก่อนสิ้นปี เดือนธ.ค.2562 สามารถโอนเงินส่วนต่างให้เกษตรกรได้ครบทุกตัว ทำให้เกษตรกรได้รับการดูแล เมื่อราคาตกต่ำ ก็ได้รับเงินส่วนต่าง แทนที่จะมีรายได้ทางเดียว ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกทางหนึ่ง มีรายได้เท่าราคาที่ประกัน”

นายจุรินทร์ กล่าวว่า   ส่วนพืชเกษตรตัวอื่น กระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการดูแลทุกตัว แต่ใช้ยาคนละขนาน อย่างผลไม้ มีมาตรการดูแลเป็นการล่วงหน้า หาตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น หรือเนื้อสุกร ทำให้เกษตรกรสามารถขายหมูเป็นหน้าฟาร์มได้ราคาดี แต่ก็ต้องดูแลผู้บริโภค โดยตรึงราคาหมูเป็นกิโลกรัม (กก.) ละ 80 บาท หมูปลายทางไม่ให้เกิน 150-160 บาท

 สำหรับโครงการประกันรายได้ปีแรก มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 7.29 ล้านครัวเรือน มีวงเงินประกันรายได้รวม 71,210 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์แล้ว 3.6 ล้านครัวเรือน จ่ายส่วนต่างแล้ว 58,313 ล้านบาท คิดเป็น 81.79%

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้ปีที่ 2 ข้าว ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) แล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม. พิจารณา ประกันรายได้ข้าว 5 ชนิดเหมือนเดิม วงเงิน 23,495.71 ล้านบาท และมีมาตรการคู่ขนาน ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี , โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ปาล์มน้ำมัน คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เห็นชอบโครงการแล้ว ระยะเวลาดำเนินการม.ค.-ก.ย.2564 วงเงิน 8,807.54 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเสนอ ครม. พิจารณา มีมาตรการคู่ขนาน คือ นำไปผลิตไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำรอง 1 แสนตัน ผลักดัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และ B7 และ B20 เป็นน้ำมันทางเลือก ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ถังเก็บน้ำมัน และบริหารการนำเข้า

มันสำปะหลัง ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 วงเงิน 9,788,933,798.40 บาท ระยะเวลาโครงการ 1 พ.ย.2563–31 พ.ค.2565 มีมาตรการคู่ขนาด คือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสาปะหลัง และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสาปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกมันสาปะหลัง  

ยางพารา คณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอ ครม. วงเงิน 31,013.27 ล้านบาท มีมาตรการคู่ขนาน คือ กำกับดูแลการรับซื้อยาง สถานที่เก็บ ส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง  

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 วงเงิน 1,912,210,245 บาท ระยะเวลา โครงการ  1 พ.ย.2563–30 เม.ย.2565 มีมาตรการคู่ขนาน คือ การบริหารการนำเข้า กำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 ต่อ 3 การแสดงราคา ณ จุดรับซื้อที่ความชื้น 14.5% และ 30% การแจ้งปริมาณการครอบครอง การนาเข้า สถานที่เก็บ การตรวจสอบสต๊อก สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการเก็บสต็อก