สัมพันธ์'อียู-ไต้หวัน'ชื่นมื่นสวนทาง'สหรัฐ-จีน'

สัมพันธ์'อียู-ไต้หวัน'ชื่นมื่นสวนทาง'สหรัฐ-จีน'

สัมพันธ์'อียู-ไต้หวัน'ชื่นมื่นสวนทาง'สหรัฐ-จีน' ขณะที่ผู้นำไต้หวันประกาศ"เราสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกกับอียู ผ่านการดำเนินธุรกิจที่ยุติธรรมและคาดเดาได้ เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย"

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐตึงเครียดหนัก โดยเฉพาะช่วงใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 3 พ.ย. ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามเรียกคะแนนเสียงด้วยการชูนโยบายปกป้องผลประโยชน์อเมริกันในทุกเรื่อง ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ การค้าและธุรกิจ ไต้หวัน ซึ่งไม่ยอมก้มหัวให้อิทธิพลของจีน ได้จัดการประชุมเพื่อดึงดูดการลงทุนระหว่างไต้หวันและประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันอังคาร(22ก.ย.)ที่ผ่านมา และผู้นำไต้หวัน ยังเรียกร้องให้มีการทำข้อตกลงทวิภาคีระหว่างไต้หวันและอียู เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

กว่า10ประเทศในอียู รวมทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และสเปน ร่วมมือกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างไต้หวันและอียู ถือเป็นการส่งสัญญาณความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายที่อบอุ่น ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน อีกทั้ง การประชุมด้านการลงทุนครั้งนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ15 ประเทศในยุโรปและดำเนินการโดยสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจยุโรป(อีอีทีโอ),สถานทูตอียูในกรุงไทเป มีขึ้่นในช่วงที่ทวีปยุโรปเริ่มมีความระแวดระวังการแผ่อิทธิพลของรัฐบาลปักกิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

ในการประชุมสุดยอดอียู-จีน เมื่อไม่นานมานี้ บรรดาเจ้าหน้าที่อียู เรียกร้องให้รัฐบาลปักกิ่งเปิดตลาดและเคารพสิทธิมนุษยชนในฐานะเป็นข้อเรียกร้องขั้นพื้นฐานสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างอียูและจีน โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าใหญ่สุดของอียู และเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดอันดับสอง และจีน ยังมองไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนด้วย

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินของไต้หวัน กล่าวในเวทีประชุมเพื่อการลงทุนระหว่างไต้หวันและอียูว่า อียูเป็นนักลงทุนต่างชาติกลุ่มใหญ่สุดของไต้หวัน และรัฐบาลบริหารของเธอได้สร้างบรรยากาศการลงทุนที่คึกคักและแข็งแกร่ง ไม่ได้แค่รองรับความจำเป็นภายในประเทศเท่านั้นแต่เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นยิ่งขึ้นกับอียูด้วย

“เราสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกกับอียู ผ่านการดำเนินธุรกิจที่ยุติธรรมและคาดเดาได้ เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย”ประธานาธิบดีไช่ กล่าว

นอกจากนี้ ผู้นำไต้หวัน ยังเสนอให้เริ่มต้นเจรจาเพื่อนำไปสู่การทำข้อตกลงด้านการลงทุนทวิภาคีระหว่างอียูและไต้หวัน โดยบอกว่า"ไต้หวันพร้อมที่จะเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนสำคัญของอียูในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งด้านข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ไบโอเทค และสุขภาพ

"ฟิลิป กรีกอร์ซิวสกี" หัวหน้าอีอีทีโอ กล่าวว่า "การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความเปราะบางของระบบห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งอียูควรผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม

“อียูและไต้หวันสามารถทำงานร่วมกันได้และยอมรับโอกาสใหม่ๆในการเปลี่ยนแปลงโลกซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เช่น ทั้งสองฝ่ายควรแชร์ระบบการค้าระหว่างประเทศที่ยุติธรรม โปร่งใสและเปิดกว้าง” หัวหน้าอีอีทีโอ กล่าวในโอกาสเปิดการประชุม

ก่อนจะมีการประชุมครั้งนี้ “โจเซฟ อู๋” รัฐมนตรีต่างประเทศของไต้หวัน กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไต้หวันให้ความสำคัญกับการลงทุนในจีน แต่ขณะนี้บรรยากาศการลงทุนในจีนเปลี่ยนแปลงไป มีบริษัทหลายแห่งของไต้หวันที่เข้าไปลงทุนในจีน กำลังคิดที่จะย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น

“เราดีใจที่เห็นว่าอียูให้การต้อนรับบรรดาบริษัทไต้หวันเข้าไปลงทุนที่นั่น อียูได้แบ่งปันคุณค่าด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนร่วมกับไต้หวัน เราจึงสนับสนุนให้บริษัทไต้หวัน เข้าไปลงทุนในอียู”รัฐมนตรีต่างประเทศของไต้หวัน กล่าว

นอกจากนี้ อู๋ ยังกล่าวว่า ไต้หวันเป็นแหล่งน่าลงทุนสำหรับบริษัทในยุโรปและบริษัทข้ามชาติอื่นๆ แม้ว่าไต้หวันจะถูกจีนคุกคามและขู่ว่าจะใช้กำลังบีบบังคับให้ไต้หวันรวมชาติกับจีน

ความสัมพันธ์ที่อบอุ่นระหว่างอียูและไทเป เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและรัฐบาลไทเปงอกงามขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการสร้างมิตรกับประเทศต่างๆให้ได้มากที่สุดในช่วงที่สหรัฐมีความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์การเมืองกับจีน

เมื่อวันที่ 17ก.ย.ที่ผ่านมา “คีธ แครช” ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อร่วมพิธีระลึกถึงอดีตประธานาธิบดีลี เต็งฮุย ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งประชาธิปไตยไต้หวัน ซึ่งการเยือนของแครชเป็นการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐครั้งที่ 2 ในรอบไม่กี่สัปดาห์ ต่อจากการเดินทางเยือนไต้หวันของ“อเล็กซ์ เอซาร์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐ เมื่อเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดของสหรัฐนับแต่ปี 2522 ที่สหรัฐเปลี่ยนมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่

ก่อนหน้านี้ไม่นาน สถาบันอเมริกันในไต้หวัน ที่เปรียบเสมือนสถานทูตของสหรัฐ ได้จัดการประชุมในหัวข้อปรับโครงสร้างระบบซัพพลายเชนของโลก โดยมีบรรดาตัวแทนของอีอีทีซี และสมาคมแลกเปลี่ยนญี่ปุ่น-ไต้หวันร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ส่วนผู้เข้าร่วมประชุม รวมถึงมิลอส วิสต์ซิล ประธานสภาสูงของสาธารณรัฐเช็ค ที่นำตัวแทนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในแวดวงธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆจำนวน 90 คนเข้าร่วม

ไต้หวันมีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และบริษัทไต้หวันอย่าง ฟ็อกซ์คอนน์ เพกาทรอน แควนตา คอมพิวเตอร์ คอมพาล อิเล็กทรอนิกส์ อินเวนเทค และเดลตา อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์หลักให้แก่บริษัทแอ๊ปเปิ้ล เอชพี เดลล์ และกูเกิล ล้วนมีโรงงานผลิตสินค้าทั่วยุโรป ทั้งในสาธารณรัฐเช็ค โปแลนด์ เยอรมนี สโลวาเกียและฮังการี