พลิกโควิดเป็นโอกาส ‘โลเคิล อไลค์’ ชี้ทางรอดฉบับ ‘เอสอี’

พลิกโควิดเป็นโอกาส ‘โลเคิล อไลค์’ ชี้ทางรอดฉบับ ‘เอสอี’

ถอดแนวคิดและปรับตัวแบบ“โลเคิลอไลค์”แพลตฟอร์มออนไลน์ที่นำเสนอท่องเที่ยววิถีชุมชน คราที่เผชิญความท้าทายท่ามกลางสมรภูมิโควิดภิวัฒน์ เผยหัวใจการปรับตัวต้องสร้างสัมพันธ์เชื่อมต่อชุมชน-ผู้บริโภค-พันธมิตร ทั้งเพิ่มโมเดลธุรกิจให้หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง

Local Alike มุ่งใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน ด้วยการนำนักท่องเที่ยวเข้าไปเรียนรู้และท่องเที่ยวในชุมชน เกิดการเชื่อมต่อคุณค่าและประสบการณ์ของผู้คน โดยทำงานร่วมกับชุมชนเกือบ 200 แห่งใน 42 จังหวัด ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมาได้ส่งนักท่องเที่ยวเข้าไปในชุมชนมากกว่า 40,000 คน พร้อมขยายขอบเขตการทำงานเพิ่มขึ้นทุกปี

160095844157

เชื่อมต่อชุมชนปรับตัวฝ่าวิกฤติ

สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง Local Alike กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ในโครงการ UpImpact by Banpu Champions for Change หัวข้อ “เปลี่ยนเพื่อสู้ ปรับเพื่อรอด ต่อยอด SE” ว่า จากดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนรวมมูลค่ากว่า 54 ล้านบาท แต่หลังจากเกิดวิกฤติโควิดในช่วง ก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปมากกว่า 10 ล้านบาท ขณะที่ชุมชนท่องเที่ยวก็ขาดรายได้กลายเป็น 0% เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวหรือการเดินทาง รายได้ทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวก็ไม่เกิด จึงเกิดการคิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

160095838060

“เบื้องต้นพบว่า ด้วยสินทรัพย์ที่เรามีคือ “ความรู้ที่ทำงานร่วมกับชุมชน” จึงปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ปัญหาทั้งเรื่องที่เข้าไปเที่ยวชุมชนไม่ได้ และการพาชุมชนมาปรุงอาหารให้นักท่องเที่ยวก็ถูกพับแผนเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องพลิกโมเดลธุรกิจของ Local Aroi สู่เดลิเวอรี่ ต่อยอดไอเดียส่งความอร่อยจากท้องถิ่นถึงบ้าน โดยให้ชุมชนส่งวัตถุดิบหลักมา ส่วน “Local Aroi” จะรังสรรค์เมนูง่ายๆ จากวัตถุดิบท้องนั้น”

พร้อมกันนี้ได้จับเทรนด์อีคอมเมิร์ซเกิดเป็น Local A lot ซึ่งแปลว่าเยอะสิ่ง เป็นการนำสินค้าชุมชนเข้าสู่ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง โดยมี “โลเคิล อไลค์” เป็นตัวกลางในการปรับแพ็กเกจจิ้ง เพิ่มสตอรี่ ยกตัวอย่างกลุ่มทอผ้าคุณภาพส่งออกที่ออเดอร์ทั้งหมดหายไปจากผลกระทบโควิด จึงมีแนวคิดที่จะชักชวนกลุ่มทอผ้ามาร่วมมือกับดีไซเนอร์ทำการตัดเย็บหน้ากากอนามัย ปรากฏว่า ในช่วงที่หน้ากากอนามัยขาดตลาด ส่งผลให้สามารถสร้างยอดขายได้กว่า 1,000 ชิ้นภายในระยะเวลา 2 วัน ขณะเดียวกันยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทุกรูปแบบที่มาจากชุมชน ทำให้ในช่วง 45 วันแรก สร้างยอดขายได้เกือบ 3 ล้านบาท และรายได้ก็ยังคงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

160095849999

จุดเด่นของการดำเนินงานที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือ การระดมสมอง ทดลองไอเดียที่ได้จาก Design Thinking พร้อมกับการตั้งหลักที่มั่นคงขององค์กร และบทบาทของผู้นำองค์กรในการกระตุ้นศักยภาพทีมงาน จะสามารถปลุกความเชื่อมั่นของชุมชนก้าวข้ามคอมฟอร์ตโซนได้ ประกอบกับการมองภาพในระยะยาวที่จะต้องอาศัยการผนึกกำลังของพันธมิตรอย่างภาครัฐ

เปลี่ยนให้เป็น จะเห็นโอกาส

"การทำงานในฐานะ SE จะต้องประสานกับทุกภาคส่วน เอาตัวเองไปเป็นซัพพลายเออร์ให้ภาครัฐมากที่สุด ถ้าเราไปผนึกกับกระทรวงหรือหน่วยงานที่แก้ปัญหาในสิ่งเดียวกันจะทำให้เกิดทางรอดทางหนึ่ง และสามารถรันการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเราคือโซลูชั่นของเขา อีกทั้งไม่ลืมที่จะตั้งเป้า OKR เช่น 1.ทีมต้องรอด 2.ชุมชนต้องรอด และ 3.ไม่มีใครถูกลดเงินเดือนหรือถูกเลย์ออฟ ก็จะทำให้สถานการณ์ภายในกลับมาเป็นปกติและยังคงเดินหน้าต่อไปได้” 

160095853575

ขณะที่การที่จะลงมือทำธุรกิจ SE ให้ประสบความสำเร็จ มีหลักการดังนี้คือ 1.สร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder relationship ) ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า คู่ค้า คนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการดึงดูดสู่แพลตฟอร์มใหม่ และ 2. Execution การดำเนินการที่จะต้องเร็วจะดี 3.การกระจายความเสี่ยง (Diversify) เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถูกผลกระทบจากพิษโควิด ทำให้คนในอุตสาหกรรมตกงานกว่า 4 ล้านคน เราในฐานะผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะขายโปรดักเพียงชนิดเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีหลากหลายโปรดัก เพราะเมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดจะปรับตัวได้ทัน

“ภายในองค์กรจะต้องทำงานแบบ Multi Skill ท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง คนจะมีสกิลเดียวไม่ได้อีกต่อไป แต่จะต้องมีความหลากหลายและยืดหยุ่นไปได้ในทุกรูปแบบในโลกที่เปลี่ยนไป พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา เพราะทักษะการทำงานที่รอบด้านและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจะเป็นหนทางรอดสำหรับการทำงานยุคใหม่” สมศักดิ์ กล่าว