ส.ว.บีบวิปรัฐ ยื้อญัตติแก้ รธน. ขู่โหวตคว่ำ - มติสภา 432 ตั้ง กมธ.ศึกษาฯ

ส.ว.บีบวิปรัฐ ยื้อญัตติแก้ รธน. ขู่โหวตคว่ำ - มติสภา 432 ตั้ง กมธ.ศึกษาฯ

ม็อบบุกสภาจี้ ส.ว.ลาออก ดัน รธน. ฉบับประชาชน หลังมติรัฐสภา 432 ต่อ 255 เสียง ยื้อโหวต 6 ญัตติแก้ รธน. วาระแรก ส.ว.เดินเกมขู่คว่ำ บีบตั้ง กมธ.ศึกษา ด้าน “เพื่อไทย-ปชป.” โต้กลับ ลั่นไม่ร่วมสังฆกรรม

การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องด่วน การแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ซึ่งมีส.ส.ร่วมกันเข้าชื่อทั้งสิ้น 6 ฉบับ เป็นวันที่สอง วานนี้(24ก.ย.) ที่ประชุมมีมติ 432 เสียง ต่อ 255 เสียง เห็นชอบใช้ข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อที่ 212 วรรค 3 ในการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาก่อนรับหลักการ ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ

โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(ประธานวิปรัฐบาล )อภิปรายว่า ความเห็นของ ส.ส.​ และ ส.ว. ไม่มีการหารือร่วมกันมาก่อน ทำให้การอภิปรายมีลักษณะเสียดสี แต่เข้าใจเพราะไม่มีการตั้ง กมธ.ประสานงานร่วมกันมาก่อน ก่อนหน้านั้นตนไม่เข้าใจว่าข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 121 วรรคสาม ที่ให้ตั้ง กมธ.ก่อนลงมติรับหลักการคืออะไร แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า คือเปิดโอกาสให้รับหลักการ ทั้งนี้ตนไม่ยอมให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล 206 ชีวิตตกไป หากจะช้า 1 เดือน คิดว่าคุ้มค่า และขอให้นำกลับเข้าสู่การประชุมรัฐสภาสมัยหน้า

“รายละเอียดหากคุยกัน สิ่งที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อคุยกับสมาชิกว่าควรเติมสิ่งที่ขาดตรงไหน ไม่ใช่การประวิงเวลา หากเดินไปข้างหน้าวันนี้ หากตั้งกรรมาธิการ ตามข้อบังคับข้อ 121 วรรคสาม เดือน พ.ย. ผ่านร่างทั้ง 6 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และลงมติตามที่ต้องการ ผมขอตั้งกรรมาธิการก่อนรับหลักการ และผมขอให้ส.ส.ฝ่ายค้านร่วมมือแก้ปัญหา หากจะให้ลงมติวันนี้แล้วได้ ก็ไม่ขัด แต่วันนี้ถึงทางที่เดินต่อไปไม่ได้ จะหยุดรอ อีก 1 เดือนจะกลับมาอีกครั้ง ว่าทำแล้ว” นายวิรัช กล่าว

ทำให้นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ลุกขึ้นตอบโต้ว่า ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยต่อการตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว เพราะไม่มีหลักประกันว่า เมื่อมีการศึกษาแล้วเสร็จ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ฉบับ นอกจากนั้นตนมองว่าไม่มีความจำเป็นต้องตั้งกมธ. เพราะเสียเวลาเปล่า

“โหวตวันนี้ ตกวันนี้ ดีกว่าศึกษา 1 เดือนแล้วตีตก เพราะถ้าเป็นแบบนั้น พวกผมเจ็บหนัก เจ็บ 2 ทาง คือ เมื่อให้พิจารณาสมัยหน้า แล้วร่างแก้ไขถูกตีตก พวกผมไม่สามารถเสนอให้รัฐสภาได้อีกตลอดปี ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของภาคประชาชน ที่เสนอโดยไอลอว์ ที่มีหลักการเดียวกัน ที่หวังว่าจะเป็นเนื้อหาให้รัฐสภาพิจารณา หลังจากที่ร่างของ ส.ส.ถูกตีตก ต้องตกไปตามกันด้วย เพราะหลักการเหมือนกัน แบบนี้พวกผมเจ็บ 2 ต่อ ดังนั้นผมคัดค้านและจะไม่ร่วมศึกษา” นายสุทิน อภิปราย

ปชป.โหวตสวนตั้งกมธ.ศึกษา

ขณะที่นายชินวรณ์​ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายยอมรับว่าตั้งตัวไม่ทัน เพราะทราบข่าวก่อนหน้านี้ไม่ถึงชั่วโมง ว่าจะเสนอตั้ง กมธ. ทั้งนี้ในหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฝ่ายเห็นตรงกันและ กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาฯ ศึกษาอย่างรอบคอบ 6 เดือน เห็นร่วมกันว่าควรแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การปลดล็อกแก้ปัญหาในรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น

ดังนั้น ปชป.ขอแสดงจุดยืนว่า ไม่จำเป็นต้องตั้ง กมธ.ก่อนรับหลักการ เพราะเมื่อรับหลักการแล้วสามารถตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาและให้สมาชิกรัฐสภาแปรญัตติได้ ดังนั้นจึงขอให้ลงมติรับหลักการ

หลังจากมีการถกเถียงกันไปมานายวิรัช เสนอให้พักการประชุม 10 นาที จากนั้นที่ประชุมได้พักการประชุมเพื่อให้ทุกฝ่ายไปตกลงกัน

ส.ว.ประสานเสียงขู่โหวตคว่ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติที่ออกมานั้น มีผลต่อเนื่องมาจากการอภิปรายที่เป็นเป็นไปอย่างดุเดือด โดยทางท่าทีจากทางฝั่ง ส.ว.หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เพื่อแก้ไขมาตรา256 โดยที่ยังไม่มีการทำประชามติถามความเห็นชอบจากประชาชน

อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมั่นใจได้อย่างไรว่า การทำเนื้อหาจะไม่ถูกกดดันเพื่อทำเนื้อหาให้เป็นไปตามความต้องการของแรงกดดัน ขณะที่ญัตติ อีก 4 ฉบับ ซึ่งแก้ไขรายมาตรา ตนมองว่าข้อเสนอใน 4 ญัตติ ยังน้อยไป เมื่อเทียบกับปัญหาที่มี หากลงทุนหมื่นล้านแต่มีเพียง4-5 ประเด็นและสมาชิกรัฐสภารวมถึงประชาชนยังไม่เห็นด้วย และยังไม่มั่นใจว่าแก้ปัญหาประชาชน ปากท้องได้จริงหรือไม่ ดังนั้นควรพิจารณาประเด็นให้รอบคอบ และกว้างขวาง

“วุฒิสภาพร้อมให้ความร่วมมือสิ่งที่พิจารณาวันนี้ คือ การหาทางที่ว่านั้นร่วมกันก่อน” นายเสรี อภิปราย

เช่นเดียวกับนายสมชาย แสวงการ ส.ว.ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรนำกลับไปทำประชามติเพื่อถามความเห็นประชาชน ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความได้ และหากสภายังยืนยันที่จะลงมติตนเชื่อว่า ส.ว.หลายคนคงมีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้ว

ยก6เหตุผล-ปัดข้ามหัว1.6ล้านเสียง

ต่างจากทางฝั่ง ส.ส.ที่ยังคงสนับสนุนการ ส.ส.ร. เพื่อแก้ไขมาตรา 256 อาทิ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกแน่ทั้ง 6 ฉบับ ดังนั้น เวลาที่เหลืออยู่ อยากให้ไขข้อข้องใจทำทุกวิถีทางให้ ส.ว. เข้าใจเจตนารมณ์ ทั้งนี้ตนขอสรุปคำถามทั้งหมด คำถามแรก แก้ไขทำไม มีเหตุผลอะไร ตอบว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาประชาชน แก้เศรษฐกิจให้พี่น้องอยู่ดีกินดี เพราะการเมืองตอนนี้ไม่เป็นเครื่องมือให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้

คำถามที่สอง ไม่ใช่ความต้องการของประชาชน ส.ส. ทำเองเพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือไม่ ยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สะท้อนมาจากประชาชนที่เลือกพวกตนขึ้นมา คำถามที่สาม การแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวอะไรกับปากท้องประชาชน เหมือนรัฐธรรมนูญไม่มีคุณค่า? ตอบว่า วันนี้ที่ประชาชนลำบากจะเป็นจะตายไม่มีกิน 70% ของเงินในประเทศมันถูกขับเคลื่อนและมาจากต่างประเทศ อีก 30% เป็นการลงทุนจากต่างประเทศภายในประเทศ เราจำเป็นต้องหวังพึ่งเงินจากต่างประเทศ ต่างชาติจะลงทุนมาเที่ยวหรือคบค้ากับประเทศที่มีระบบการปกครองเป็นสากล มีระบบการเลือกตั้งที่เข้มแข็ง มีระบบกฎหมายเป็นมาตรฐาน มีระบบบริหารที่ดีแต่การยึดอำนาจคือปฐมเหตุ และหลังจากนั้นก็ดูว่าการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ต่างชาติตกใจ เห็นเลยว่าอีกไม่นานความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นอีก

ฝ่ายค้านปัดข้ามหัว16ล้านเสียง

คำถามที่สี่ เปลืองงบประมาณ ตอบว่า วันนี้รัฐบาลกู้เงินมาเยอะแต่ไม่มีวิธีใช้เงิน แจกแบบไม่มีผลผลิต วิธีที่ดีที่สุดคือ จัดเลือกตั้ง จัดประชามติ เห็นการกระจายงบประมาณทุกรูขุมขน กระจายทุกหมู่บ้าน คำถามที่ห้า จะไปล้มประชามติ 16 ล้านเสียงทำไม ตอบคือ วันนั้นไม่มีที่ไหนเลือกตั้งภายใต้กฎอัยการศึก ขัดหลักเลือกตั้ง แล้วใครจะยอมรับ แต่วันนี้ใช่ว่าเราจะปฏิเสธ 16 ล้านเสียง แต่เมื่อแก้แล้วการทำประชามติสามารถย้ำอีกทีได้ ถ้าคนยืนยันว่าไม่รับก็กลับไปใช้ฉบับเดิม ไม่ใช่ข้ามหัว

คำถามที่หก ฝ่ายค้านเสนอ 2 แบบทำไม คือทั้งร่างเป็นการตีเช็คเปล่าหรือไม่ และทำไมต้องยื่นรายมาตราอีก ตอบว่า การยื่นอีก 4 ญัตติ เพราะว่าหลายคนบอกแก้ทั้งฉบับไม่เอา ก็มีทางเลือกให้ 4 ญัตติเลือกเอา แล้วตอนนี้คือมีให้เลือกแบบทั้งฉบับและรายมาตราให้เลือกแล้วทุกอย่าง คิดว่า นี่คือทางออกของประเทศ และให้สภาเป็นหลักพึ่งพิงของประเทศ หายากที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลจะเห็นตรงกัน เหลืออยู่เพียงฝ่ายเดียว คือ ส.ว. สุดท้ายเหลือตัวนายกรัฐมนตรี

ม็อบบุกสภาจี้ส.ว.ลาออก

ส่วนบรรยากาศบริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา ในช่วงเย็นกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งคณะประชาชนปลดแอกร่วมกับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย และแนวร่วม ได้นัดหมายชุมนุมเพื่อติดตามการพิจารณาและเรียกร้องให้ส.ว.ลาออก

โดยมีการวางกำลังจากตำรวจนครบาลจำนวน5กองร้อยในการดูแลรักษาความปลอดภัย ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่นำรถอุปกรณ์จากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.ซึ่งมีไฟส่องสว่างและอุปกรณ์ที่จำเป็น จำนวน 2 คัน และรถเครื่องขยายเสียงของกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 จำนวน 1 คัน มาจอดอยู่บริเวณด้านหน้าประตูทางเข้ารัฐสภา

ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการแจกสติกเกอร์ ผูกโบสีข่าว พร้อมพ่นสีสเปรย์ภาพหมุดคณะราษฎร์ 2ลงบนพื้นที่ถนนเพื่อแสดงสัญลักษณ์ ช่วงหนึ่งของการปราศรัยแกนนำบนเวทีได้แจ้งผู้ชุมนุมว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไม่อนุญาตตามที่ฝ่ายค้านเสนอให้ประชาชนจำนวน100คน ที่เป็นตัวแทนผู้ชุมนุมอยู่หน้าสภา เข้าไปฟังการประชุมพิจารณาการแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้แกนนำผู้ชุมนุม กล่าวโจมตีนายชวน อย่างรุนแรง ทั้งยังโจมตีว่าเป็นสภาเผด็จการ

จากนั้นเวลา 18.45 น. แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดยนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล พร้อมแนวร่วมจำนวนหนึ่ง เคลื่อนเข้าประชิดรั้วรัฐสภา พร้อมกับนำบล็อกซึ่งเป็นรูปหมุดคณะราษฎร 2563 ไปพ่นสีสเปรย์ลงบนกำแพงรั้วหน้ารัฐสภา

ขณะที่นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ระยอง ได้นำสติ๊กเกอร์รูปหมดคณะราษฎรไปติดตรงรั้วทางเข้าออกของรัฐสภา