ทุจริตบ้านเอื้ออาทรคุก 99 ปี 'วัฒนา' ยื่นเงินสด 10 ล้านประกันตัว

ทุจริตบ้านเอื้ออาทรคุก 99 ปี 'วัฒนา' ยื่นเงินสด 10 ล้านประกันตัว

ศาลฎีกานักการเมือง สั่งจำคุก 99 ปี "วัฒนา เมืองสุข" อดีต รมว.พัฒนาสังคมฯ คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร ใช้เงินสด 10 ล้านบาทประกันตัว - เสี่ยเปี๋ยงโดนเพิ่มอีก 66 ปี อริสมันต์ 4 ปี ศาลออกหมายจับ

วานนี้ (25 ก.ย.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 2548-2549 นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร อดีตนักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และกลุ่มเอกชน รวม 14 ราย เป็นจำเลย คดีถูกกล่าวหาว่าทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร

ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157 ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

เพื่อให้กระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91

ศาลวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและโจทก์มีอำนาจฟ้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการตามฟ้อง ซึ่งการดำเนินการมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำเป็นขบวนการอย่างมีระบบ อันเป็นความผิดตามฟ้องเกิดขึ้นจริง ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้ง 14 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

ในสวนจำเลยที่ 4 นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง เป็นตัวกลางที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในขบวนการของกลุ่มในการเรียกเงินจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่จำเลยที่ 4 หรือผู้ประกอบการบางรายเรียกเงินที่ผู้ประกอบการจ่ายแก่จำเลยที่ 4 ว่าเป็นค่าที่ปรึกษานั้น เป็นเพียงการอ้างให้เงินดังกล่าวนำไปลงบัญชีได้ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 อ้างอำนาจในตำแหน่งของจำเลยที่ 1 นายวัฒนา

โดยติดต่อในลักษณะข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการที่ประสงค์เข้าดำเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทรให้นำเงินมามอบให้เพื่อตอบแทนการได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างและเข้าทำสัญญาเป็นผู้จัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรขายให้แก่การเคหะแห่งชาติ ตามสัดส่วนที่ได้จ่ายเงินให้จำเลยที่ 5 นางสาวรัตนา แซ่เฮ้ง ซึ่งเป็นเลขานุการจำเลยที่ 4 และเป็นพนักงานของ บริษัท และทำหน้าที่เป็นผู้โทรศัพท์ติดตามทวงถามเงินจากผู้ประกอบการ รวมทั้งรับเช็คมาจากผู้ประกอบการเพื่อให้ได้เงินครบจำนวนเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้

ฟังได้ว่าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 4 จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 5-7 (จำเลยที่ 6 นางสาวกรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด จำเลยที่ 7.นางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ,) ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 4 ด้วย

สำหรับนายวัฒนา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การที่จำเลยที่ 1 กำหนดแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทรใหม่นั้นและการที่จำเลยที่ 1 มีบันทึกข้อความลงวันที่ 17 ตุลาคม 2548 สั่งให้แก้ไขข้อ 3 ของประกาศการเคหะแห่งชาติฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2548 รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 แทรกแซงการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ และผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ส่วนความผิดฐานร่วมข่มขืนใจหรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นำเงินมอบให้เพื่อตอบแทนการที่การเคหะแห่งชาติอนุมัติให้ได้เข้าทำสัญญาตามฟ้องหรือไม่นั้นเห็นว่า

แม้นายวัฒนา จำเลยที่ 1 อ้างว่ารัฐมนตรีมีหน้าที่กำกับงานด้านนโยบาย และเกี่ยวข้องเฉพาะการปรับปรุงประกาศฉบับใหม่ หรือที่โออาร์ก็ตาม แต่ลักษณะการกระทำความผิดในคดีนี้เป็นไปไม่ได้ที่จำเลยที่ 4-7 ซึ่งเป็นเพียงบุคคลภายนอกจะสามารถกระทำการได้เองโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอภิชาติ จำเลยที่ 4 ไม่อาจจะแสดงตนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เชื่อถือได้ว่ามีฐานะเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นทางการของนายวัฒนา จำเลยที่ 1 ได้เอง

สำหรับจำเลยที่ 10 นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือกี้ร์ ซึ่งเคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีคนก่อนได้พูดยุยงส่งเสริมเพื่อช่วยในการตัดสินใจของนางชดช้อยให้เกิดความมั่นใจที่จะมอบเงินให้แก่ผู้มารับเช็คไปอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิดของขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการแม้ผู้ร่วมกระทำความผิดในขบวนการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการจะรู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกของจำเลยที่ 10 หรือไม่ก็ตาม แต่ก็ถือว่าจำเลยที่ 10 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามฟ้อง

หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งตำแหน่งทางการเมือง สั่งให้จำคุกนายวัฒนา เมืองสุข เป็นเวลา 99 ปี ตามกฎหมายให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี พร้อมจำคุกนายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 66 ปี ให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี ร่วมกันชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าจำนวน 1,323,006,750 บาท

จำคุก นางสาวรัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทเสี่ยเปี๋ยง เป็นเวลา 20 ปี จำคุก นางสาวกรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด เป็นเวลา 44 ปี จำคุกนางสาวรุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ เป็นเวลา 32 ปี และจำคุกนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 4 ปี

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว คดียังไม่ถึงที่สุด คู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์ได้อีกครั้ง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ให้สิทธิคู่ความในการยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน

โดยนายวัฒนาได้รับการประกันตัวจากศาลฎีกาฯ ระหว่างอุทธรณ์คดี แล้ว โดยยื่นหลักทรัพย์ 10 ล้านบาท เป็นเงินในบัญชีธนาคารหลักทรัพย์เดิม 5 ล้านบาท เติมเงินสดเพิ่มอีก 5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

นายวัฒนา ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นพ้องด้วยก็จะใช้สิทธิอุทธรณ์ไปตามกฎหมาย ดีใจที่ตนเป็นกรณีแรก ที่โทษสูงขณะนี้แต่ศาลให้ประกันตัว เพราะได้กราบเรียนท่านว่า ตนเป็นคนว่าความ ทำคดีเองเอกสารมีเป็นหมื่นหน้า อยู่ในไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ถ้าไม่อนุญาตให้ประกันตัว ตนไม่สามารถอุทธรณ์ได้

“ผมจะหนีทำไม จากภาษากายทุกคนรู้ว่าผมไม่หนี องค์คณะ 9 ท่านยังเชื่อว่า ผมไม่หนี นี่เป็นคดีแรกที่โทษ 50 ปี แล้วศาลให้ประกัน” นายวัฒนากล่าว