'บีทีเอส' ยื่นสอบชิงสายสีส้ม ร้องรฟม.ยึดข้อตกลงคุณธรรม

'บีทีเอส' ยื่นสอบชิงสายสีส้ม ร้องรฟม.ยึดข้อตกลงคุณธรรม

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในเอกสารการพิจารณาคัดเลือกเอกชน (RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โครงการนี้มีมูลค่า 142,789 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมงาน 2 ส่วน คือ 1.งานโยธาช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส หารือกับ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น วานนี้ (24 ก.ย.) เพื่อให้ร่วมตรวจสอบกรณีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าว

นายมานะ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มกลางคัน โดยไม่ล้มประมูลถือว่าอาจขัดต่อหลักธรรมมาภิบาลและเกิดการแข่งขันไม่เสรี ทำให้ประเทศเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ซึ่งทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจะขอเข้าไปตรวจสอบ และขอให้ทาง รฟม.พิจารณาถึงการนำข้อตกลงคุณธรรมในการประมูลโครงการ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบความโปร่งใสการประมูลครั้งนี้

“3 โครงการประมูลรถไฟฟ้าที่ผ่านมา รัฐบาลก็ใช้ข้อตกลงคุณธรรมในการประมูล รวมมูลค่าโครงการกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ โครงการเดียวมีมูลค่ามากถึง 1.4 แสนล้านบาท ดังนั้นถ้าการประมูลจะประกาศใช้ข้อตกลงคุณธรรม เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างมาก”

160095482947

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า บีทีเอสเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวสร้างความไม่เป็นธรรมและตั้งข้อสังเกต 2 เรื่อง คือ 1.ไม่แน่ใจว่าการดำเนินการของคณะกรรมการตาม ม.36 ที่เปลี่ยนเกณฑ์ตัดสิน ในทางกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากโครงการนี้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว

2.การเปลี่ยนหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเอกชนภายหลังขายซองแล้ว เมื่อเอกชนทุกรายทราบว่ามีคู่แข่งรายใดเข้าซื้อซองก็เกิดเป็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบ และขณะนี้จะหาพันธมิตรเพิ่มเพื่อแข่งขันก็ลำบาก

“เดิมตัดสินผู้ชนะที่ข้อเสนอด้านการเงิน และผลตอบแทน 100% แต่คคณะกรรมการ ม.36 มาเปลี่ยนเป็นการนำคะแนนด้านเทคนิคมาเป็นเกณฑ์ตัดสินร่วมกับข้อเสนอการเงิน และผลตอบแทนในสัดส่วน 30:70 ซึ่งใน 70 ด้านการเงิน แบ่งออกเป็น 60% พิจารณาจากผู้เสนอราคาดีที่สุด และ 10% พิจารณาจากคะแนนที่สมเหตุสมผล ซึ่งไม่เคยใช้กับโครงการใดมาก่อน”

ทั้งนี้ บีทีเอสได้ยื่นหนังสือต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉิน ในกรณีที่ รฟม.เปลี่ยนเงื่อนไขหลักเกณฑ์และขอให้กลับมาใช้หลักเกณฑ์เดิม เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยรอศาลนัดไต่สวนทั้ง 2 ฝ่าย คือ บีทีเอส และ รฟม.

ทั้งนี้ ปัจจุบันไม่ทราบว่าจะมีบริษัทอื่นยื่นฟ้องต่อศาลเพิ่มเติมด้วยหรือไม่ แต่เชื่อว่าแต่ละบริษัทมีระเบียบและวิธีปฏิบัติไม่เหมือนกัน โดยอาจจะต้องมีขั้นตอนการเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) ก่อน เพราะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แต่บีทีเอสซีไม่ได้อยู่ใน ตลท. จึงดำเนินการได้รวดเร็วมากกว่า

“การยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เราไม่ได้ต้องการให้ล้มประมูล เพราะจะทำให้เสียเวลา”

160095498537

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หากท้ายที่สุด รฟม.เดินหน้าคัดเลือกในหลักเกณฑ์ใหม่ บีทีเอสก็จะเข้าร่วมยื่นข้อเสนอเพื่อประโยชน์ของประเทศ โดยเบื้องต้นจะร่วมกับพันธมิตรในนาม กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วย บีทีเอส ,บริษัท ซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

ข้อกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ขุดอุโมงค์ใต้ดินเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 5 เมตร และมูลค่าโครงการไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งข้อกำหนดนี้กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR มีประสบการณ์ ในขณะที่เอกชนที่มีประสบการณ์ทำงานอุโมงค์ในไทยมีเพียง 3 ราย และเอกชนที่มีประสบการณ์ขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำมีเพียง 2 รายในไทยเท่านั้น อีกทั้ง RFP ยังระบุหมายเหตุไว้ว่า หากเป็นผู้รับเหมาไทย และมีประสบการณ์ด้านนี้จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ทำให้การหาพันธมิตรต่างชาติค่อนข้างแข่งขันยาก

160095501644