ธปท.เร่งดัน‘ไมโครเอสเอ็มอี’เข้าถึงเงินกู้

ธปท.เร่งดัน‘ไมโครเอสเอ็มอี’เข้าถึงเงินกู้

“แบงก์ชาติ” เร่งผลักดันโครงการ Digital Factoring ชี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบกลาง คาดแล้วเสร็จและนำออกใช้ในวงกว้างต้นปี 64 เชื่อหนุนไมโครเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อเพิ่ม 1 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 1 หมื่นรายปีหน้า

นางสาวพีรจิต ปัทมสูต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาเอสเอ็มอีในปัจจุบัน คือการเข้าถึงบริการทางการเงิน หรือเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก หากเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนั้นธปท.จึงเล็งเห็นความสำคัญของ Factoring ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสภาพคล่องได้มากขึ้น

ธปท. ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับการให้บริการ Digital Factoring โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาและลดอุปสรรคของ SMEs รายย่อยในการเข้าถึงบริการ Factoring

ซึ่ง Digital factoring ถือเป็นเครื่องมือที่เข้ามาอุดช่องโหว่ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรม Factoringในอนาคต และสามารถลดการฉ้อโกง ที่เกิดจากการปลอมแปลงเอกสาร และลดปัญหาการนำใบแจ้งหนี้ มาขอสินเชื่อซ้ำซ้อนหลายแห่งได้ในอนาคต

นายธรรมรักษ์ หมื่นจักร์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวต่อว่า หลังจากมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปเรียบร้อยเมื่อก.ย.ที่ผ่ามา ล่าสุดธปท.อยู่ระหว่างการนำความเห็น มาประกอบการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของ Digital racroting ecosystem ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วนคือ การพัฒนาฐานข้อมูลกลาง เพื่อตรวจสอบและป้องกัน การใช้ใบแจ้งหน้าซ้ำซ้อน และการกำหนดมาตรฐานใบแจ้งหน้าดิจิทัล เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งคาดว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้สามารถเปิดให้ทดสอบ ร่วมกับภาครัฐเอกชนได้ราวพ.ย. 2563 นี้ และคาดว่าจะสามารถนำระบบดังกล่าวมาใช้จริงในวงกว้างได้ ราวไตรมาส1ปี 2564 ต่อไป

สำหรับเป้าหมายโครงการ Digital factoring ธปท.คาดว่า จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะหนุนให้เอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือไมโครเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นราว 10,000 คน หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่มีไมโครเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ factoring อยู่ราว 30,000 คน หรือคิดเป็นวงเงินราว 2 แสนล้านบาท

“เป้าหมายสูงสุดของเรา เมื่อ Digital factoring ออกใช้เราคาดว่าจะมีไมโครเอสเอ็มอีที่จะได้ประโยชน์ และเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มในสิ้นปี 64 ราว 1 หมื่นคน หรือคิดเป็นสินเชื่อเพิ่มขึ้นราว 1 แสนล้านบาท และจะเห็นวงเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีแบงก์ และนอนแบงก์สนใจเข้ามาปล่อยสินเชื่อภายใต้โครงการนี้แล้วเกือบ 30 ราย ส่วนใหญ่เป็นนอนแบงก์”