เจาะพฤติกรรมลงทุน‘กองทุนรวม’ การลงทุนแต่ละGeneration(3)

เจาะพฤติกรรมลงทุน‘กองทุนรวม’  การลงทุนแต่ละGeneration(3)

การศึกษาข้อมูล Big Data ผู้ถือหน่วยกองทุนรวมในส่วนสุดท้าย เป็นการกล่าวถึงพฤติกรรมการลงทุนเพื่อส่งเสริมให้ผู้ลงทุนในแต่ละ Generation สามารถลงทุนอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย

โดยแบ่งออกเป็น 3 มุมมอง ได้แก่ 1.มุมมองของการเลือกนโยบายการลงทุน 2.มุมมองด้านการกระจายการลงทุน และ 3.มุมมองด้านระยะเวลาในการลงทุน

160095394947 ในส่วนแรก มุมมองของการเลือกนโยบายการลงทุน จากการศึกษาในภาพรวมพบว่า ผู้ลงทุนมีการลงทุนสอดคล้องตามช่วงวัย โดยกลุ่ม Baby Boomer และ Post War เน้นลงทุนในตราสารหนี้ ขณะที่กลุ่ม Generation X และ Y เน้นลงทุนในตราสารทุน หากมองในภาพรวมอาจดูเหมือนว่าผู้ลงทุนมี การกระจายการลงทุนที่ดี แต่เมื่อเจาะลึกรายละเอียดในมุมมองด้านการกระจายการลงทุน พบว่าในปี 2562 ผู้ลงทุนเกินกว่าครึ่งมีการกระจายการลงทุนที่น้อย ซึ่งส่วนมากให้น้ำหนักกับการลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนหรือตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น ผู้ลงทุนคนหนึ่งถือกองทุนรวมอยู่ 5 กอง แต่ทั้ง 5 กองนี้มีนโยบายการลงทุนที่เหมือนกัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ ลงทุนในกองทุนรวมประเภทเดียวกัน 5 กอง และเมื่อศึกษาลงลึกในระดับ Generation พบว่ากลุ่มที่มีการกระจายการลงทุนที่น้อย คือ Generation Y และ Generation Z 

ส่วนกลุ่มผู้ลงทุนที่มีระดับอายุมากขึ้น พบว่ามีการกระจายการลงทุนที่มีความหลากหลายของนโยบายมากขึ้นซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้มีการกระจายความเสี่ยง ดังนั้น การผลักดันให้ผู้ลงทุนมีการลงทุนในกองทุนรวมที่หลากหลายทั้งการลงทุนในประเทศและต่างประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก รวมทั้งการส่งเสริมบริการ ด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงินที่มีคุณภาพเพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับเป้าหมายในระยะยาว

160095400018

สำหรับ มุมมองด้านระยะเวลาในการลงทุน เป็นการศึกษาข้อมูลพฤติกรรมการลงทุนเพื่อพิจารณาว่า เมื่อผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมแล้ว ในปีต่อ ๆ มาจะยังมีการเข้ามาลงทุนอยู่หรือไม่ จากข้อมูลพบว่า ผู้ลงทุนบุคคลรายใหม่ที่เข้ามา ในปี 2014 ณ สิ้นปีที่ 1 จะเหลือผู้ลงทุนหน้าเดิมอยู่ 76% หรือ ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ลงทุนบุคคลใหม่ของกองทุนรวมเกือบทั้งหมดและทยอยลดในปีต่อ ๆ มา อย่างไรก็ดี หากนับถึงสิ้นปีที่ 5 พบว่า จะเหลือผู้ลงทุนหน้าเดิมประมาณ 50% แสดงให้เห็นว่าผู้ลงทุนประมาณครึ่งนึงให้ความสำคัญในการลงทุนระยะยาว ต่อมาหากพิจารณาพฤติกรรมนี้ในระดับ Generation พบว่าผู้ลงทุนใหม่กลุ่ม Generation Y มีสัดส่วนการถือครองกองทุนรวมระยะยาวค่อนข้างน้อย จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดต่อว่าจะทำอย่างไรเพื่อสนับสนุนให้ Generation Y ที่เข้ามาลงทุนแล้วมีการลงทุนระยะยาวมากขึ้น

กล่าวโดยสรุป พฤติกรรมในภาพรวมข้อมูลสะท้อนให้เห็นว่าแต่ละ Generation มีการลงทุนที่ค่อนข้างสอดคล้องตามช่วงวัย แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของผู้ลงทุนแต่ละรายพบว่า ผู้ลงทุนส่วนมากยังลงทุนเพียงนโยบายการลงทุนประเภทเดียว และยังไม่เน้นลงทุนระยะยาว ดังนั้น จากผลการศึกษานี้ นำไปสู่นัยเชิงนโยบายที่สำคัญ ดังนี้

1.Generation Z เป็นวัยที่ควรส่งเสริมความรู้ด้านการลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สามารถรับความเสี่ยงได้ เช่น ส่งเสริมความรู้การวางแผนทางการเงิน (Personal Finance) รวมทั้งสนับสนุนการกระจายความเสี่ยงไปยังหลักทรัพย์ต่าง ๆ รวมทั้งการกระจายนโยบายที่หลากหลายผ่านกองทุนรวม

2.Generation Y เป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจในการลงทุน เนื่องจากมีการเข้ามาลงทุนเร็ว แต่ยังถือกองทุนตราสารทุนระยะสั้น ประกอบกับยังมีการกระจายการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่น้อย ดังนั้นจึงควรมีการวางแผนทางการเงิน ควรได้รับบริการด้าน Wealth Advice เพื่อช่วยให้ความรู้และคำแนะนำไปสู่การจัดพอร์ตให้มีการกระจายการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับเป้าหมายในระยะยาว

3.Generation X ลงทุนสอดคล้องกับช่วงวัย แต่ยังมีการกระจายการลงทุนผ่านกองทุนรวมไม่มาก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรรับบริการ Wealth Advice เพื่อช่วยให้ความรู้และคำแนะนำไปสู่การจัดพอร์ต ประกอบกับการวางแผนการลงทุนรองรับการเกษียณผ่าน Post-retirement products

4.Baby Boomer และ Post War เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าการลงทุนในกองทุนรวมสูง ลงทุนเหมาะกับช่วงวัย แต่พบว่าเริ่มมีการนำเงินลงทุนออกเนื่องจากเข้าสู่วัยเกษียณ ดังนั้น การพัฒนา Post-retirement products รองรับผู้ลงทุนกลุ่มนี้ จะเป็นการสนับสนุนให้คงเงินลงทุนผ่านตลาดทุน และช่วยป้องกันการนำเงินไปลงทุนนอกระบบซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงได้

**********************

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์