จังหวะเศรษฐกิจอีอีซี 8 เดือน ธุรกิจตั้งใหม่ทะลุ 4 พันราย 

จังหวะเศรษฐกิจอีอีซี 8 เดือน ธุรกิจตั้งใหม่ทะลุ 4 พันราย 

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยบริษัทตั้งใหม่เดือนส.ค.63 มีจำนวน 5,538 ราย ลดลง 7% เหตุโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยกดดัน แต่ทิศทางเริ่มดีขึ้น คนมั่นใจลงทุนทำธุรกิจมากขึ้น หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” สรุปเป็นสถิติในแต่ละเดือนนั้น สามารถสะท้อนอุณหภูมิเศรษฐกิจประเทศได้และหากเจาะจงในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันมีนิติบุคคลคงอยู่ ณ 31 ส.ค.2563 จำนวน 71,785 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1.95 ล้านล้านบาท  ซึ่งเดือนส.ค.นี้ยังมีธุรกิจตั้งใหม่ในอีอีซีที่มีความโดดเด่นแห่งหนึ่งของประเทศ

นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง การจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนส.ค.2563 ว่ามีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน5,538ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน14,316ล้านบาท ลดลงจากเดือนก.ค.2563 จำนวน 129 ราย หรือคิดเป็น 2%และลดลงจากเดือนส.ค. 2562 จำนวน 435 ราย คิดเป็น 7%

คาดว่าสถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 มาแล้วและเริ่มมีจำนวนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาแต่ยังมีประเด็นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบที่ 2ที่อาจส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและนักลงทุนได้

160095451986

ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนส.ค.2563 จำนวน1,337ราย  ลดลง 24% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน หรือ ลดลง 418ราย แต่เพิ่มขึ้น 76 รายเมื่อเทียบกับเดือนก.ค.2563 หรือ เพิ่มขึ้น 6%  ขณะที่มูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน5,408ล้านบาทลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน 23,525 ราย หรือ ลดลง81%  

จำนวนธุรกิจเลิกกิจการสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง5ปีที่ผ่านมาไม่มีนัยสำคัญเพราะมองว่าเป็นการปรับตัวตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ เมื่อมีธุรกิจหนึ่งยกเลิกประกอบกิจการก็จะมีธุรกิจบางประเทศจดเพิ่มขึ้นมา” 

สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในปลายปี 2563 คือการระบาดของโควิด-19 รอบสองที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นโดยรวม เพราะไทยมีผ่อนคลายมาตรการในการรักษาระยะห่างและการเปิดประเทศในเดือนต.ค.ให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้ามาประเทศไทย ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือในการคัดกรองตรวจสุขภาพนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพจะมีผลดีต่อภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวของไทย เช่น การขนส่งเดินทาง โรงแรมที่พักอาศัย ร้านอาหารและธุรกิจนำเที่ยว ซึ่งเป็นภาคที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและแรงงานจำนวนมาก

"คาดว่าหลังจากผ่อนคลายธุรกิจภาคบริการเหล่านี้จะฟื้นกลับคืนมาอีกครั้งและทั้งปีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจจะยังเป็นไปตามเป้าคือ 65,000-70,000ราย หรือเฉลี่ยประมาณ 5,000-5,500รายต่อเดือน

160095445767

     

ด้านความเคลื่อนไหวการจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก : Eastern Economic Corridor (EEC)ประกอบด้วยเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยองการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือน ม.ค. ส.ค. 2563 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่รวม 4,353 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลง 622 ราย หรือลดลง 12.50% ทั้งนี้พบว่าจำนวนธุรกิจตั้งใหม่ส่วนใหญ่ 70.91% เป็นการจัดตั้งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จำนวน 3,087 ราย และธุรกิจเกิดใหม่ส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจบริการ60.63%  รองลงมาคือการขายส่งขายปลีก และการผลิต ส่วนมูลค่าทุนจดทะเบียน 12,785 ล้านบาท ลดลง 4,671 ล้านบาทหรือ26.76%

หากจะจำแนกธุรกิจที่ยังดำเนินกิจการอยู่ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ก็จะพบว่าเป็นกลุ่มที่เอื้อต่อนโยบายอีอีซีที่มีแผนส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกลุ่มการผลิตได้แก่ ธุรกิจกลึงกัดไสโลหะ ,ธุรกิจติดตั้งเครื่องจักรอุตสาหกรรมและอุปกรณ์ และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์ กลุ่มธุรกิจขายส่งขายปลีก ได้แก่ ธุรกิจขายส่งเครื่องจักรอื่นๆ,ธุรกิจขายส่งเครื่องจักรเพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรมและธุรกิจขายปลีกวัสดุก่อสร้าง ส่วนกลุ่มธุรกิจบริการ ได้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปและธุรกิจบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร

ส่วนธุรกิจในพื้นที่อีอีซี ที่เป็นการถือหุ้นของต่างชาติในนิติบุคคลไทย 40.51%  ของทุนทั้งหมด โดยสัญชาติญี่ปุ่นมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 48.19% รองลงมาคือ จีนและสิงคโปร์โดยมีการลงทุนในพื้นที่จังหวัดระยองสูงสุดถึง 52.97% มูลค่า สูงถึง 419,049ล้านบาท รองลงมาคือ ชลบุรี มูลค่า 289,146 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา มูลค่า82,896 ล้านบาท 

เมื่อพิจารณารายธุรกิจที่ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอีอีซีเลือกดำเนินการสูงสุดเริ่มต้นที่ญี่ปุ่นได้แก่ ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆสำหรับยานยนต์ มูลค่าการลงทุน 75,479 ล้านบาท ,ผลิตอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม มูลค่าการลงทุน 38,720.91 ล้านบาท ,ผลิตยางล้อและยางใน มูลค่าการลงทุน 31,797.32 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจที่ลงทุนโดยสัญชาติจีนสูงสุด 3 อันดับแรก เรียงลำดับจากมูลค่าทุนจดทะเบียน ได้แก่ ผลิตยางล้อและยางใน มูลค่าการลงทุน 17,099.56 ล้านบาท,ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆสาหรับยานยนต์ มูลค่าการลงทุน 8,736.45 ล้านบาท,ผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่น ๆ มูลค่าการลงทุน 4,394.22 ล้านบาท

ธุรกิจที่ลงทุนโดยสัญชาติสิงคโปร์สูงสุด 3 อันดับแรก เรียงลาดับจากมูลค่าทุนจดทะเบียน ได้แก่ผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มูลค่าการลงทุน 8,318.38 ล้านบาท,ผลิตยางล้อและยางใน มูลค่าการลงทุน 6,920.98 ล้านบาทและผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใช้ในครัวเรือน มูลค่าการลงทุน 4,046.59 ล้านบาท

ปัจจัยส่งเสริมที่จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งงบประมาณประจำปี งบลงทุน และเม็ดเงินเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการเติบโตของธุรกิจด้านสุขภาพรวมถึงธุรกิจที่สามารถรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป