‘พิพัฒน์’กางสเต็ปเปิดประเทศ ชงลดกักตัวเหลือ 7 วัน พ.ย.นี้

‘พิพัฒน์’กางสเต็ปเปิดประเทศ  ชงลดกักตัวเหลือ 7 วัน พ.ย.นี้

เป็นเวลารวม 8 เดือนพอดีนับตั้งแต่รัฐบาลจีนประกาศปิดประเทศ ห้ามบริษัททัวร์พานักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปต่างประเทศเมื่อปลายเดือน ม.ค.2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

กระทั่งรัฐบาลไทยตัดสินใจปิดน่านฟ้าเมื่อปลายเดือน มี.ค.หรืออีก 2 เดือนถัดมาเพื่อล็อกดาวน์สกัดการลุกลาม ก่อนสถานการณ์จะคลี่คลายทั้งในไทยและบางประเทศที่คุมได้ดี จนมีความเสี่ยงโรคโควิดต่ำ “การเปิดประเทศ” จึงกลายเป็น “Hot Issue ร้อนแรงอีกครั้งตลอดช่วงไตรมาส 3 นี้ เพราะรัฐบาลผู้มีอำนาจตัดสินใจจำเป็นต้องบาลานซ์ระหว่างความกังวลของคนในประเทศและเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวถึง 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในงาน “เที่ยวทั่วไทย ร่วมใจช่วยชาติ” โรดโชว์สะท้อนปัญหาของผู้ประกอบการท่องเที่ยว จัดโดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ สทท. วานนี้ (24 ก.ย.) ภายใต้หัวข้อ “ทิศทางการท่องเที่ยวไทยในอนาคต” ว่า สำหรับแนวทางการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างจำกัด จะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบ Step by Step หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติการออกวีซ่านักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist VISA (STV) เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา คาดว่ารายละเอียดของ STV จะประกาศชัดโดยโฆษกของรัฐบาลในวันอังคารที่ 29 ก.ย.นี้

“กระทรวงการท่องเที่ยวฯมองว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าไทยได้เร็วที่สุด โดยตามความตั้งใจของผมคือเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มแรกเดินทางเข้ามาในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เป็นกลุ่มลองสเตย์ มาพักกักตัวที่โรงแรมกักตัวทางเลือกทั้ง ASQ และ ALSQ เป็นเวลา 14 วันตามเกณฑ์ที่กำหนด

ทั้งนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ได้กำหนดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่ม STV เดินทางเข้าไทย 300 คนต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็น 1,200 คนต่อเดือน กระทรวงการท่องเที่ยวฯจึงต้องขอดูผลการกักตัว 14 วันของนักท่องเที่ยว 2 กลุ่มแรกรวม 600 คนก่อน กล่าวคือสัปดาห์แรกของการเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวมา 300 คน พอครบกำหนดกักตัวในวันที่ 15 ก็จะทราบผลว่ามีผู้ติดเชื้อหรือไม่ หากไม่พบ ก็จะขอดูผลของ 300 คนอีกกลุ่มที่เดินทางเข้าไทยในสัปดาห์ที่ 2 หากไม่มีผู้ติดเชื้อก็เดินหน้าแผนการเปิดประเทศต่อ

“เมื่อดูผลตลอดเดือน ต.ค.นี้แล้วไม่พบผู้ติดเชื้อ จะนำเสนอต่อ ครม.ช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้ให้พิจารณาปรับเพิ่มโควตานักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่ม STV จาก 300 คนต่อสัปดาห์ เพราะแค่จำนวนดังกล่าวไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งประเทศได้ ควรเปิดรับให้ได้มากที่สุดตามกำลังเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่สามารถตรวจหาเชื้อโควิดได้”

อย่างกรณีของ จ.ภูเก็ต ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯได้ลงพื้นที่สอบถามข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับรายงานว่าเจ้าหน้าที่ในภูเก็ตสามารถรองรับการตรวจหาเชื้อในนักท่องเที่ยวต่างชาติได้สูงสุด 1,000 คนต่อวัน จากอดีตภูเก็ตเคยรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากถึง 6,000-7,000 คนต่อวัน หากการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ตดำเนินไปอย่างราบรื่น สามารถเพิ่มขีดการรองรับเป็น 3,000 คนต่อวัน เพื่อเพิ่มกระแสการเดินทาง ช่วยเสริมสภาพคล่องแก่ธุรกิจท่องเที่ยว

ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯยังได้หารือขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชน เรื่องส่งหน่วยสนับสนุนมาช่วยเก็บเชื้อตรวจหาโควิดในนักท่องเที่ยว ด้วยการพานักท่องเที่ยวไปตรวจที่โรงแรม ASQ หรือ ALSQ แทน เพื่อลดความแออัดภายในสนามบิน

และประมาณช่วงกลางเดือนหรือสิ้นเดือน พ.ย.นี้ หากไม่พบนักท่องเที่ยวติดเชื้อ จะเสนอขอให้รัฐบาลลดระยะเวลากักตัวจาก 14 วัน เหลือ 7 วัน โดยมีการตรวจหาเชื้อแบบเข้มขึ้นถึง 2 ครั้ง เมื่อกักตัวครบกำหนด 7 วัน หากไม่พบเชื้อ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปที่ไหนก็ได้

“วันนี้เรากอดคำว่าเกียรติยศของประเทศไทยเรื่องความสามารถในการป้องกันและควบคุมโรคโควิดระดับโลกไว้มาก แต่เมื่อดูผลการวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งปีนี้และปีหน้าของสถาบันการเงินต่างๆ แล้ว กลับพบว่าประเทศไทยอยู่รั้งท้ายสุดของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน โจทย์สำคัญของกระทรวงการท่องเที่ยวฯคือต้องเร่งพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาส พลิกเศรษฐกิจไทยที่รั้งท้ายให้กลับมาเติบโต เหมือนกับความสามารถในการป้องกันโรคที่เราทำได้ดี”

พิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากโจทย์การเร่งเปิดประเทศแล้ว ผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังได้ฝากโจทย์เรื่องช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) การยกเว้นหรือปรับลดภาษีเพื่อช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน และอื่นๆ รัฐบาลได้รับทราบและพยายามหาวิธีเยียวยา โดยทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและทีมเศรษฐกิจไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องนี้

ด้านมาตรการเที่ยวปันสุขที่ส่งเสริมให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศผ่าน 2 โครงการ ได้แก่  “กำลังใจ” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” กรอบวงเงินรวม 2.24 หมื่นล้านบาท กระทรวงการท่องเที่ยวฯเตรียมเสนอขอให้ ครม.ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิ์ของทั้ง 2 โครงการ จากเดิมจะสิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.นี้ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2563