'เดลต้า' ราคาพุ่งเฉียด200% ยอดขายโตกระฉูดสวนโควิด

'เดลต้า' ราคาพุ่งเฉียด200%  ยอดขายโตกระฉูดสวนโควิด

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนกลายเป็นปัจจัยถ่วง ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา หลังทั้งสองประเทศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าตอบโต้กันไปมาหลายระลอก แต่กลับส่งผลกระทบไปทั้งโลก เพราะภาคการค้าเชื่อมโยงถึงกันหมด

ประเทศไทยในฐานะที่พึ่งพาการส่งออกเป็นพระเอกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอยู่ในห่วงโซ่การผลิตโลก จึงได้รับกระทบจากเทรดวอร์ไปเต็มๆ สินค้าส่งออกหลายชนิดทรุดหนัก ทั้งสินค้าเกษตร เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยถือเป็นฐานการผลิตสำคัญให้กับคู่ค้ามากมายโดยเฉพาะจีน

ดังนั้น เมื่อบริษัทในจีนไม่สามารถส่งสินค้าไปขายในสหรัฐฯ ได้ ต้องปรับลดกำลังการผลิต และชะลอสั่งซื้อวัตถุดิบต้นน้ำจากไทย กระทบยอดขายบริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อ่อนแอลงอย่างชัดเจน ส่งผลต่อเนื่องไปถึงราคาหุ้นเข้าสู่โหมดขาลงอย่างเลี่ยงไม่ได้

มาถึงปีนี้เหมือนจะมีสัญญาณที่ดี หลังสงครามการค้าสงบศึกลงชั่วคราว แต่กลับมีปัจจัยใหม่ปะทุขึ้นอีกและดูรุนแรงยิ่งกว่าเดิม กับการระบาดของโรคโควิด-19 ซ้ำเติมเศรษฐกิจเข้าขั้นโคม่า เมื่อเกือบทั้งโลกถูกล็อกดาวน์ ภาคการผลิตแทบหยุดชะงัก การค้าระหว่างประเทศซบเซาหนัก ยิ่งทำให้ราคาหุ้นในช่วโค้งแรกของปีไหลลงลึก

พอเข้าสู่ไตรมาส 2 ปี 2563 แม้สถานการณ์ในเดือน เม.ย. จะวิกฤตหนัก แต่หลังจากนั้นเริ่มคลี่คลาย ทำให้เริ่มมีแรงซื้อกลับ นำโดยบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ออกมาดีเกินคาด

หลังสินค้าในกลุ่ม “คลาวด์ สตอเรจ” และ “ดาต้า เซ็นเตอร์” เติบโตอย่างก้าวกระโดด สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอล เพราะเมื่อเกิดโรคระบาด คนส่วนใหญ่หยุดอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านกันมากขึ้น หนุนการใช้งานอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการชอปปิ้งออนไลน์ ดูหนัง ฟังเพลง ฯลฯ ทำให้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าหลักของบริษัทขายดีตามไปด้วย

โดยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทตุนยอดขายเข้ากระเป๋าไปทั้งหมด 14,491 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% จากช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 ที่ 13,915 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 14.3% จากช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ 12,680 ล้านบาท แม้ยอดขายอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบถล่มทะลาย แต่ถ้าดูกำไรขั้นต้นจะเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดอยู่ที่ 3,892 ล้านบาท จาก 2,772 ล้านบาท และ 2,586 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2562 และไตรมาส 1 ปี 2563 หรือ เพิ่มขึ้น 40.4% และ 50.5% ตามลำดับ 

เนื่องจากสินค้าในกลุ่ม “คลาวด์ สตอเรจ” และ “ดาต้า เซ็นเตอร์” มีมาร์จินสูง จึงดันกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวเป็น 2,020 ล้านบาท จาก 868 ล้านบาท และ 857 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2562 และไตรมาส 1 ปี 2563 ตามลำดับ

ขณะที่แนวโน้มในครึ่งปีหลังเชื่อว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก หากไม่เกิดการระบาดรอบใหม่ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม “คลาวด์ สตอเรจ” และ “ดาต้า เซ็นเตอร์” ยังเป็นดาวเด่น แต่อาจจะไม่หวือหวาเท่ากับช่วงไตรมาสที่ผ่านมา

ส่วนกลุ่มที่จะมาแรง คือ ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหลายประเทศกำลังให้การสนับสนุน โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปที่มีการออกมาตรการเชิญชวนให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถอีวี ซึ่งบริษัทมีฐานลูกค้าในยุโรปเกือบทุกค่าย นอกจากนี้ ยังได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า หนุนสินค้าส่งออกไทยมีราคาถูกลงในสายตาของผู้ซื้อ

เมื่อผลประกอบการดูยังไปได้สวย สวนทางวิกฤตโควิด-19 จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดันราคาหุ้น DELTA พุ่งไม่หยุด เดินหน้าทำระดับสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง โดยล่าสุดวานนี้ (24 ก.ย.) ยังปิดบวกสวนตลาดขึ้นมาได้ที่ 156 บาท เพิ่มขึ้น 4.50 บาท หรือ 2.97% ทำออลไทม์ไฮใหม่ เท่ากับว่าปีนี้ราคาหุ้น DELTA ปรับขึ้นมาแล้วถึง 191% เมื่อเทียบกับราคาปิดของปี 2562 ที่ 53.50 บาท

ทำให้เวลานี้ DELTA กลายเป็นดาวเด่นของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นอีกหนึ่งหุ้นเนื้อหอมที่บรรดากูรูหลายๆ ค่ายแนะนำให้ติดพอร์ตไว้ เพราะเชื่อว่างบฯไตรมาส 3 ปี 2563 จะไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง 

แต่ด้วยราคาหุ้นที่ขึ้นมาแรงมาก จนเกินเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ให้ไว้ไม่น้อย จึงควรเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โอกาสที่จะปรับฐานแรงๆ เกิดขึ้นได้เสมอ ยิ่งในช่วงนี้ที่สถานการณ์โรคระบาดยังไม่นิ่ง หลายประเทศพบการระบาดรอบใหม่และนำมาสู่การล็อกดาวน์อีกครั้ง