โรงแรมภูเก็ต วิ่งสู้ฟัด งัดทุกสูตร  หวังรอดพ้นวิกฤติโควิด

โรงแรมภูเก็ต วิ่งสู้ฟัด งัดทุกสูตร   หวังรอดพ้นวิกฤติโควิด

โควิดทุบท่องเที่ยวอ่วม โรงแรมใน "ภูเก็ต" ปรับตัวทุกทาง หวังรอพ้นวิกฤติ เอสซีบี งัดหลักสูตร The Hospitality Survival หวังรอดหมู่ทั้งแบงก์-ลูกค้า ททท.ภูเก็ต มองบวก หลังแง้มประตูรับนักเดินทาง ลุ้นเม็ดเงินสะพัด 2 แสนล้าน

พลันที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” เป็นหน้าด่านแรกที่ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสมาก อย่างประเทศไทยที่พึ่งพาท่องเที่ยวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ราว 20% หรือทำเงินราว 1.7 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจุดหมายปลายทาง(Destination)ไทยราว 40 ล้านคน

เมื่อการเดินทางลดน้อยถอยลง จนไร้เงานักท่องเที่ยวต่างชาติ น่านฟ้าปิดให้บริการ ตลอดจนมาตรการล็อกดาวน์ สกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก การทยอยปิดให้บริการของโรงแรมเล็กใหญ่ มีให้เห็นในวงกว้าง สิ่งที่ตามมาเป็นโดมิโน่ คือธุริจ แรงงานในห่วงโซ่ของการท่องเที่ยวกระเทือนไปด้วย

6 เดือน ที่โควิดทุบท่องเที่ยวไทย หลายจังหวัดสูญเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ ธุรกิจขาดรายได้ และ“ จังหวัดภูเก็ต” เป็นหนึ่งในจังหวัดที่เจ็บปวด เจ็บตัวหนัก เพราะอาศัยกำลังซื้อนักท่องเที่ยวต่างขาติ 90% ส่วนคนไทยไปเยือนน้อย เพราะติดภาพจำ(Perception)แพง ทำให้โรงแรม รีสอร์ท หรือธุรกิจพักผ่อนหย่อนใจ(Hospitality) ต่างต้องหาทางเอาตัวรอด

ย้อนรอย 10 ปีที่ผ่านมา ภูเก็ตมีโรงแรมที่พักมากถึง 1,800 แห่ง จำนวนห้องพักหลักแสนห้องซึ่งหากดูความต้องการตลาด(Demand) และการเกิดโรงแรมใหม่(Supply)ออกมา ต้องยอมรับว่า ล้นตลาด มุมมองจาก นภสร ค้าขาย ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานภูเก็ต

ขณะที่การท่องเที่ยวภูเก็ต ทำเงินให้ประเทศประมาณ 4.7 แสนล้านบาท แต่โรคระบาดฉุดรายได้ให้หายมหาศาล ดีสุดปีนี้คาดการณ์อยู่ที่ 2 แสนล้านบาท หรือเกือบกึ่งหนึ่งของเม็ดเงินเดิม ส่วนเลวร้ายจะได้เห็นเงินสะพัด 1.5 แสนล้านบาท เพราะหลังจากคลายล็อกดาวน์ต่างๆ ภูเก็ตค่อยๆแง้มประตูรับนักเดินทาง แต่จนถึงเดือนกรกฎาคม ทำรายได้ให้ประเทศเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น และจำนวนนักท่องเที่ยวเยืนอ 3 ล้านคน ไทย 1 ล้านคน และต่างชาติ 2 ล้านคน

จำนวนคนเดินทางหายวับ! โรงแรมที่เคยมีหลักพัน แต่สายป่านยาวเปิดให้บริการเพียง 125 แห่ง รวม 8,400 ห้องเท่านั้น ส่วนทางรอดที่ททท.พยายามช่วยผู้ประกอบการนอกจากมีเว็บไซต์ https://phuketgreattime.com/ ที่รวบรวมธุรกิจท่องเที่ยวจากผู้ประกอบการเสิร์ฟตรงถึงนักเดินทาง(B2C) ขายสินค้าและบริการได้กว่า 30,000 รายแล้ว แต่เท่านั้นไม่พอ เพราะหากจะหารายได้หล่อเลี้ยงเพื่อยืนหยัดระยะยาวต้องมีมาตรการอีกมาก

ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะโรงแรมในภูเก็ตจำนวนไม่น้อย ในภาวะวิกฤติจึงพยายามหาทางช่วยอีกแรง เพราะหากผู้ประกอบการรอด แบงก์รอดด้วย พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการอาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ เล่าว่าธนาคารได้จัดหลักสูตร The Hospitality Survival ติวเข้มเทคนิคในการปรับตัวสู่ทางรอดยามวิกฤติ

การเลือกหมุดหมายแรกภูเก็ต เพราะมูลค่าเศรษฐกิจจากท่องเที่ยวมหาศาล และลูกค้าโรงแรมที่เป็นเอสเอ็มอีหลายรายกำลังเผชิญความยากลำบาก สำหรับโจทย์แรกที่แนะให้ปฏิบัติต้อง ลดต้นทุน” ค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองต่างๆหรือ Overhead จากนั้นต้องขยายช่องทางขายให้ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง เพราะที่ผ่านมาการขายโรงแรมที่พัก มักพึ่งเอเย่นต์ แต่จากนี้ไปต้องมีเว็บไซต์ มีไลน์แอด พัฒนาเพจ เจาะผู้ซื้อตรงด้วยตัวเอง รวมถึงการทำแพ็คเกจท่องเที่ยวออกมาให้ชัดเจน จุดเช็คอินไหนถูกแพง ระบุไว้ เพื่อให้นักเดินทางวางแผนการเงิน ใช้จ่ายได้ตรงใจ

จังหวะนี้ต้องประคองตัว เพื่อรอนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาในอีก 2-3 ปี สิ่งที่แบงก์ขอคือให้คุมต้นทุน Overhead ให้ได้ 35-40% และรักษาสภาพโรงแรมไม่ให้เสื่อมโทรม เพราะคืออาวุธในการทำมาหากิน และต้องทำการตลาดดิจิทัลด้วยตัวเอง หากผู้ประกอบการผ่าน 2 เกณฑ์ เอสซีบี จะมีมาตรการลดดอกเบี้ยให้

มาตรการที่เอสซีบีช่วยประคองผู้ประกอบการ ไม่เพียงป้องกันลูกค้าทางการเงินที่อาจกลายเป็นชนวนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) แต่นี่คือทางรอดที่ทีมประเทศไทยต้องช่วยกัน ที่สำคัญการปรับตัว ไม่ได้เกิดแค่กับลูกค้าของแบงก์ เพราะตัวแบงก์เอง ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ ยังต้องรัดเข็มขัดให้ได้หลักร้อยถึงพันล้านบาท

ธุรกิจเป็นเรื่องของต้นทุนและยอดขาย เราลดต้นทุน เพื่อประคองแบงก์ และแบงก์จะได้ประคองลูกค้าต่อ หากต้นทุนหนา องค์กรเทอะทะ การไปต่อยาก