เทสลา (Tesla) อ้จฉริยะบุรุษที่ไม่ควรถูกลืม

เทสลา (Tesla) อ้จฉริยะบุรุษที่ไม่ควรถูกลืม

ทำความรู้จัก ‘นิโคลา เทสลา’ บิดาแห่งไฟฟ้ากระแสสลับผู้วางรากฐานระบบไฟฟ้าที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันผ่านหนังชีวประวัติ ‘TESLA เทสลา คนล่าอนาคต’ ที่ผู้กำกับมือรางวัล ‘ไมเคิล อัลเมอร์เรย์ดา’ ลงทุนกำกับ เขียนบท และอำนวยการสร้างเอง

160093661426

สัปดาห์นี้มีหนังฝรั่งเข้าใหม่มาให้เลือกชมกันหลากแนว ไม่ว่าจะเป็น I AM WOMAN คุณผู้หญิงยืนหนึ่งหัวใจแกร่ง หนังเกี่ยวกับ เฮเลน เรดดี้ นักร้องนักแต่งเพลงที่ขับเคลื่อนพลังสตรีนิยมในช่วง 1970 จากเพลง I am Woman อันโด่งดัง, TESLA เทสลา คนล่าอนาคต, หนังภัยพิบัติล้างโลก GREENLAND นาทีระทึก..วันสิ้นโลก, หนังรักโรแมนติก love at second sight เลิฟ แอท เซคอัน ไซท์ และหนังสยองขวัญเรื่อง BEHIND YOU ซ่อนเงาผี

แต่เรื่องที่จะมาชวนไปดูคือ TESLA เทสลา คนล่าอนาคต หนังชีวประวัติของ 'นิโคลา เทสลา' อัจฉริยะนักประดิษฐ์ที่สร้างคุณูปการเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะการคิดค้นและพัฒนาทฤษฎีไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) อันเป็นรากฐานของระบบไฟฟ้าที่ใช้งานทั่วโลกในปัจจุบัน

แต่ว่าชีวิตของนิโคลา เทสลา กลับโดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่ได้รับการจดจำมากเพียงพอ และควรค่ากับคุณประโยชน์ที่เขาสร้างเอาไว้ให้กับโลกใบนี้

160093670740

160093672754

สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วชื่อของ 'นิโคลา เทสลา' ถูกบดบังอยู่ใต้ร่มเงาของ 'โทมัส อัลวา เอดิสัน' ที่เราท่องจำกันมาตั้งแต่เด็กว่าเป็นผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ (ที่ใช้งานได้จริง) ได้สำเร็จเป็นคนแรกของโลก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อครั้งที่เกิด 'สงครามกระแสไฟฟ้า' (Current War) ขึ้นนั้น ผู้ที่ชนะคือ เทสลา ไม่ใช่ เอดิสัน

'Current War' หรือ 'สงครามกระแสไฟฟ้า' คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1880-1890 ซึ่งเกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือดว่า ระบบไฟฟ้ากระแสตรง (DC) กับระบบไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) แบบไหนดีกว่ากัน พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นการปะทะกันระหว่าง เอดิสัน นักประดิษฐ์ผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น ผู้คิดค้นทฤษฎีไฟฟ้ากระแสตรง กับเทสลา นักประดิษฐ์โนเนมที่เคยเป็นลูกมือของเอดิสันมาก่อน ผู้คิดค้นทฤษฎีไฟฟ้ากระแสสลับ

การตัดสินผู้ชนะในสงครามนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1893 เมื่อมีการจัดงาน World’s Columbian Exposition ขึ้นที่นครชิคาโก เพื่อฉลองวาระครบรอบ 400 ปีที่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ระดับโลก มีผู้ร่วมงานถึง 27 ล้านคน แล้วปรากฎว่า บริษัทเวสติงเฮาส์ชนะการประมูลจัดหาระบบไฟฟ้าสองสว่างในงานด้วยการเสนอราคาที่ถูกกว่าทางฝ่ายของเอดิสันถึงครึ่งหนึ่ง

แต่ถึงแม้จะชนะมาเพราะเสนอวงเงินที่ถูกกว่า เทสลาก็สามารถแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้ากระแสสลับ ด้วยการจ่ายไฟให้กับหลอดไฟเกือบหนึ่งแสนดวงในงานได้สำเร็จ จนทำให้ระบบไฟฟ้ากระแสสลับกลายเป็นแบบอย่างของระบบไฟฟ้าทั่วโลกในเวลาต่อมา

ภาพยนตร์ ‘TESLA เทสลา คนล่าอนาคต’ ร้อยเรียงชีวประวัติของเทสลา รวมถึงความขัดแย้งกับเอดิสัน ให้เรารับรู้ผ่านสายตาของ แอนน์ มอร์แกน (รับบทโดย อีฟ ฮิวสัน) ลูกสาวของ เจ พี มอร์แกน นายทุนผู้ร่ำรวยและทรงอิทธิพลมากในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐ แต่ลูกสาวกลับมาหลงรักและพยายามช่วยเหลือ นิโคลา เทสลา (รับบทโดย อีธาน ฮอว์ก) ให้ประสบความสำเร็จ

การใช้แอนน์เป็นตัวดำเนินเรื่องถือเป็นกลวิธีการนำเสนอที่แยบยล นอกจากจะทำให้คนดูหนังที่ไม่มีพื้นเกี่ยวกับเทสลามาก่อนเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายขึ้นแล้ว ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับแอนน์ยังขับเน้นความเป็นเทสลาให้เด่นชัดออกมาได้โดยไม่ต้องบรรยายออกมาเป็นคำพูด เช่น การไม่เปิดใจรับผู้หญิงคนไหนให้เข้ามาในชีวิต หรือการหมกมุ่นอยู่แต่กับความคิดของตัวเองจนแทบไร้การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน

160093690576

160093692373

อีฟ ฮิวสัน ได้พูดถึงความสัมพันธ์ของแอนน์กับเทสลาในหนังเรื่องนี้เอาไว้ว่า

“แอนน์ มอร์แกน เป็นคนที่มีการศึกษาที่ดี เธอเรียนเก่ง มีครอบครัวที่ร่ำรวย เธอเข้าใจโลกในแบบที่ไม่เหมือนใคร ในแบบที่ผู้ชายบางคนยังไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยซ้ำ เมื่อเธอได้พบกับเทสลา เธอมองเห็นความพิเศษในตัวเขา เข้าใจตัวตนและสิ่งที่เขากำลังประดิษฐ์คิดค้นอยู่ ในทางหนึ่งเธอตกหลุมรักเขา และคิดต่อไปถึงบทบาทที่ตัวเธอจะเป็นหากได้อยู่เคียงคู่กับเขา”

160093698349

ไมเคิล อัลเมอร์เรย์ดา (ผู้กำกับ/ผู้เขียนบท/ผู้อำนวยการสร้าง) ผลักดันให้เกิดโปรเจคต์ TESLA ขึ้นมาเพราะมองว่านักประดิษฐ์ผู้เปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์คนนี้ ควรค่าแก่การนำเสนอเรื่องราวลงในหนังชีวประวัติอันทรงคุณค่า

“ผมอยากให้ผู้ชมได้เห็นถึงผลของความยิ่งใหญ่ที่เทสลาได้สร้างขึ้นต่อโลกของเรา ผลงานนวัตกรรมการประดิษฐ์ของเขานำไปสู่การปฏิวัติอันน่าอัศจรรย์ เทสลาเป็นคนที่แสนทะเยอทะยาน มีความคิดที่มุ่งมั่น เขาเหมือนกับลำแสงจากประภาคารที่ชี้ทางส่องสว่างไปสู่จุดที่เรากลับไม่เคยมองเห็น”

ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ ‘TESLA เทสลา คนล่าอนาคต’ คือ การลำดับภาพที่งดงามราวกับภาพศิลปะ มีหลายฉากในหนังที่สื่ออารมณ์ความรู้สึกออกมาได้โดยไม่ต้องมีคำพูด ซึ่งเป็นผลงานของผู้กำกับภาพ ฌอน วิลเลียมส์ ที่เคยร่วมงานกับ ไมเคิล อัลเมอร์เรย์ดา มาแล้วใน Marjorie Prime (2017), The North Wind’s Gift (2018), The Lonedale Operator (2020)

ทั้งคู่มีไอเดียว่าต้องการให้ ‘แสง’ เป็นองค์ประกอบสำคัญของหนังเรื่องนี้

160093706492

160093707974

“เราเล่นกับแสงหลายชนิดมากในหนัง ทั้ง เทียน ตะเกียง แสงไฟฟ้า เพื่อให้โทนภาพมีการตัดกันกับเงาที่เข้มและแสงแดดที่ส่องสว่างจ้าเป็นครั้งคราว

เรายังมีการใช้เทคนิคฉายภาพยิงเข้าบริเวณฉากหลังเพื่อให้ฉากออกมาดูสมจริงและคมชัดมากขึ้น เทคนิคนี้ช่วยเสริมให้เห็นภาพจากช่วงที่แอนน์ มอร์แกนเล่าเรื่องภายในหนังอันสอดคล้องไปกับเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่เทสลาคิดค้นขึ้นมา”

160093714916

อารมณ์ขันลึกๆ ที่แอบซ่อนอยู่ (ที่คุณต้องสังเกตุเอาเองในหนัง และบางคนอาจจะไม่เก็ต) ถือเป็นอีกจุดที่น่าสนใจใน TESLA เช่น การเปรียบเทียบให้เห็นความโด่งดังของ เอดิสัน และการถูกโลกลืมของ เทสลา ด้วยการให้แอนน์มาบอกผลลัพธ์ของการเสิร์ชหาชื่อของคนทั้งคู่ในกูเกิ้ล หรือการให้ตัวละครใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ายุคปัจจุบัน (ที่ในยุคของเทสลายังไม่มีใช้แน่นอน) โผล่เข้ามาเป็นระยะๆ

กิมมิคเหล่านี้ถือว่าสอดคล้องไปกับตัวหนัง เพราะ ‘เครื่องใช้ไฟฟ้า’ ที่เราใช้กันอยู่ตอนนี้ก็เป็นผลพวงมาจาก ‘กระแสไฟฟ้า’ ที่เทสลาคิดค้นขึ้นมาได้นั่นเอง

160093716968

สำหรับข้อเสียของ TESLA เทสลา คนล่าอนาคต คือ ความเนิบของหนังที่ไร้ความตื่นเต้น และจุดพีคโดยสิ้นเชิง ทำให้ต้องสู้กับความง่วงเหงาหาวนอนอยู่บ้างพอสมควรระหว่างดู ประกอบกับเนื้อหาบางส่วนที่เข้าใจยาก คนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเทสลาว่าเขาประดิษฐ์คิดค้นอะไรบ้าง อาจไม่เข้าใจว่า ณ บางจุดในหนัง เทสลากำลังทำอะไรอยู่ แล้วโครงการนั้นสำคัญมากน้อยแค่ไหน

160093719665

แต่ไม่ว่า ‘TESLA เทสลา คนล่าอนาคต’ จะประสบความสำเร็จด้านรายได้มากน้อยแค่ไหนก็ตาม แต่อย่างน้อยผู้กำกับ ไมเคิล อัลเมอร์เรย์ดา ก็ทำสำเร็จในแง่ของการสร้างการรับรู้ให้คนดูว่า บุคคลที่ชื่อ นิโคลา เทสลา ยิ่งใหญ่ และมีคุณูปการต่อโลกใบนี้มากเสียจนเราไม่ควรที่จะหลงลืมเขาไปจริงๆ

160093736374

หมายเหตุ : ไมเคิล อัลเมอร์เรย์ดา (ผู้เขียนบท, ผู้กำกับ, ผู้อำนวยการสร้าง) คือนักสร้างภาพยนตร์มือรางวัล ผลงานของเขาต่างได้รับเสียงชื่นชมอย่างน่าประทับใจทั้งจากนักวิจารณ์และผู้ชม โดยผลงานสร้างชื่อของเขา ได้แก่

Hamlet (2000) หนังที่ดัดแปลงมาจากงานเขียนของ วิลเลียม เชกสเปียร์ นำแสดงโดย อีธาน ฮอว์ค, ไคล์ แม็คลาชแลน

Experimenter (2015) นำแสดงโดย ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด ซึ่งได้รับการเปิดตัวฉายที่เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์

Marjorie Prime (2017) ที่นำแสดงโดย จอน แฮมม์, จีน่า เดวิส, ทิม ร็อบบิ้นส์ ซึ่งตัวหนังนั้นเปิดตัวฉายที่เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ พร้อมทั้งยังคว้ารางวัลติดไม้ติดมือกลับมาด้วย และตัวหนังยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากเวที Film Independent Spirit Awards, Gotham Awards และ Satellite Awards อีกด้วย