3 ปัญหาช่องปากพบบ่อยในผู้สูงอายุ แนะยึดหลัก 2-2-2

 3 ปัญหาช่องปากพบบ่อยในผู้สูงอายุ แนะยึดหลัก 2-2-2

กรมอนามัยเผย 3 ปัญหาช่องปากพบบ่อยในผู้สูงอายุ แนะดูแลยึดหลัก 2-2-2 คือ แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ โดยเน้นช่วงก่อนนอน แปรงฟันนานอย่างน้อย 2 นาที ลดกินอาหารหวาน เหนียว แข็ง เน้นกินผักผลไม้ที่มีกากใย ตรวจสุขภาพช่องปากประจำ

           แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุที่มักพบบ่อย คือการสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ส่วนหนึ่งสูญเสียฟันทั้งปาก และมากกว่าครึ่งของผู้สูงอายุที่มีฟัน พบโรคในช่องปากที่ไม่ได้รับการรักษาและมีโอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น โดยปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่พบบ่อย พบว่า ร้อยละ 52.6 เป็นโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา ร้อยละ 36.3 เป็นโรคปริทันต์ และร้อยละ 16.5 เป็นรากฟันผุ

     นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 18 ต้องการใส่ฟันเทียมบางส่วน ร้อยละ 6.5 ต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปาก และเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเป็นร้อยละ 18.9 ในผู้สูงอายุ 80-85 ปี ซึ่งจากผลการสำรวจสภาวะทันตสาธารณสุข ในปี 2560 พบว่า ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่มีการสูญเสียฟันสูงที่สุด พบค่าเฉลี่ยฟันแท้ที่มีในช่องปากประมาณ 19 ซี่/คน และผู้สูงอายุกว่า ร้อยละ 60 เหลือฟันใช้งานไม่ถึง 20 ซี่

       ดังนั้น การส่งเสริมให้คนไทยดูแลสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยสูงอายุจะช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปากได้ โดยควรลดกินอาหารหวาน เหนียว เนื่องจากอาหารประเภทนี้จะเกาะติดผิวฟันเป็นเวลานาน ทำความสะอาดยาก เสี่ยงเกิดฟันผุและควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง เพราะอาจทำให้ฟันแตกขณะเคี้ยวได้ เน้นกินผักผลไม้ที่มีกากใย

          ด้านทันตแพทย์ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า ประชาชนทุกกลุ่มวัย ควรดูแลทำความสะอาดช่องปากและฟันเป็นประจำวัน โดยยึดหลัก 2-2-2 คือ แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง   ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ โดยเน้นช่วงก่อนนอน แปรงฟันนานอย่างน้อย 2 นาที ให้สะอาดทั่วทั้งปาก ทุกซี่       ทุกด้าน และไม่กินขนม หรืออาหารหวานหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำความสะอาดได้นอกเหนือจากนั้น ควรเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย

        และฟัน หลีกเลี่ยงปัจจัยและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก สำหรับผู้สูงอายุที่เหลือฟันแท้น้อยกว่า 20 ซี่ และใส่ฟันเทียมทดแทน ต้องถอดออกมาทำความสะอาดหลังอาหารทุกมื้อ ก่อนนอนให้ถอดออกแช่น้ำสะอาดทุกครั้ง และควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจสภาพฟัน เหงือก รวมทั้งเนื้อเยื่อในช่องปากและซ่อมเสริมฟันเทียมให้อยู่ในสภาพ    ใช้งานได้ดีอยู่เสมอ ไม่หลวมหรือคมจนเหงือกและลิ้นเป็นแผล เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี