ธอส.เผยหนี้เสียล็อตแรกพุ่ง9พันล้าน

ธอส.เผยหนี้เสียล็อตแรกพุ่ง9พันล้าน

ธอส.เผย หนี้เสียหลังมาตรการพักชำระหนี้ล็อตแรกพุ่ง 8.5% หรือ 9 พันล้านบาท จากสินเชื่อ 1.8 แสนล้านบาท ถือว่า ต่ำกว่าเป้าตั้งไว้ที่ 25% ขณะที่ เตรียมประเมินหนี้เสียล็อตสองจากสินเชื่อ 2 แสนล้านบาทในสิ้นต.ค.นี้ พร้อมตั้งสำรองเพิ่มรวม 5.3 พันล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)เปิดเผยถึงสถานการณ์หนี้เสียของธนาคารว่า ขณะนี้ ตัวเลขหนี้เสียไม่ได้สะท้อนตัวศักยภาพลูกหนี้อย่างแท้จริง เพราะว่า เรามีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ถึง 10 มาตรการ มีลูกค้าสินเชื่อรวม 4.8 แสนล้านบาท ซึ่งมีการทยอยครบกำหนดแต่ละมาตรการไปแล้ว โดยเฉพาะมาตรการที่ 5 ซึ่งเป็นการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ขณะนี้ มีลูกค้าอยู่ในมาตรการ 1.8 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ หลังครบมาตรการในสิ้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีลูกค้า 2 กลุ่ม กลุ่มแรก มีมูลหนี้ 1 แสนล้านบาท ขอเข้ามาตรการต่อไปอีก 3 เดือน ขณะที่ อีก 8 หมื่นล้านบาท ไม่ได้เข้ามาตรการ ในจำนวนนี้ สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ 6.5 หมื่นล้านบาท และ ที่เหลือจ่ายไม่ครบบ้าง ชำระไม่เต็มงวดบ้าง โดยสรุป คือ มีอีก 9 พันล้านบาท ที่เห็นสัญญาณว่า จะมีปัญหาหรือเป็นหนี้เสีย หรือคิดเป็น 8.5% ของมาตรการที่ 5 ถือว่า ต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยเราคาดการณ์หนี้จะมีปัญหา 25% ของมาตรการ

“ในกลุ่ม 9 พันล้านบาท มี 5 พันล้านบาทไม่ขำระ มี 4 พันล้านบาท ชำระไม่เต็มงวด ดังนั้น กลุ่ม 4 พันล้านเราจะเข้าไปดู เพราะแม้ความสามารถไม่เท่าเดิม แต่ตั้งใจทื่จะจ่าย เราจะดูว่า จะปรับระยะเวลาสัญญากู้ให้ผ่อนได้อย่างไร ส่วน 5 พันล้านต้องติดต่อ เพราะเขาอาจเคยชินกับการหยุดจ่าย ทำให้งวดนี้ไม่จ่ายหรือเปล่า แต่ว่า ต้องมีส่วนที่ความสามารถไม่กลับมาด้วย”

ส่วนมาตรการที่ 8 จะครบในเดือนต.ค.นี้ ก็มีลูกค้าในมาตรการที่พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอีก 2 แสนล้านบาท ซึ่งเราจะประเมินความสามารถในการชำระหนี้ว่าจะกลับมาได้เท่าไหร่ เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รองรับมาตรการต่างๆทั้งหมด ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการธนาคารมีมติมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 คือ จะมีการขยายมาตรการที่ 8 ออกไปอีก 3 เดือน

เขากล่าวด้วยว่า ด้วยสถานการณ์หนี้เสียดังกล่าว ทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองเพิ่ม ทั้งนี้ เราได้ตั้งสำรองล่วงหน้าไปแล้ว หลังจากออก 10 มตรากรร เพื่อรองรับการไหลของหนี้เสีย โดยเราคำนวณไว้ที่ 5.3 พันล้านบาท ซึ่งตั้งแต่มี.ค.ที่ออกมาตรการ เรากันสำรองไปแล้ว 3.5 พันล้านบาท อีก 4 เดือน คาดว่า จะสำรองเพื่อรองรับมั่นคงให้เต็ม 5.3 พันล้านบาท โดยขาดอีก 1.8 พันล้านบาท

เขากล่าวว่า การตั้งสำรองดังกล่าว แน่นอนว่า จะกระทบต่อผลกำไรของธนาคาร โดยเมื่อก่อนที่เกิดโควิด-19 เราประมาณการกำไรไว้ 1.35 หมื่นล้านบาท แต่หลังโควิด-19 เราปรับเป้าไปที่สคร.เหลือ 8 พันล้าน ตอนนี้ ภายใต้การดูเรื่องตั้งสำรอง คาดว่า กำไรจะอยู่ที่ 9 พันล้านบาทบวกลบ ซึ่งสูงกว่าเป้าที่ปรับ แต่ไม่เท่าเมื่อประมาณการ เพราะเราลดดอกเบี้ยหลายส่วน ฉะนั้น ความสามารถในการทำกำไรจะลดลง

“รายได้จากดอกเบี้ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ผ่านมา12 เดือน กนง.ลดดอกเบี้ย ฉะนั้น ดอกเบี้ยรับจากสินเชื่อลงแน่นอน รวมทั้ง กลุ่มลูกค้าธนาคารเป็นกลุ่มรายได้น้อย ปานกลาง และเราก็เป็นผู้นำในการลดดอกเบี้ยตลอด แต่ว่า เราชดเชยด้วยการลดต้นทุนดำเนินงานและไปเล่นตลาดบน เพื่อนำส่วนต่างมาชดเชยภาระ ฉะนั้น ในภาพรวมการบริหารจัดการ ทำให้เรากำไรได้ 9 พันล้านบวกลบ”

สำหรับภาพรวมสินเชื่อนั้น หลังจากโควิด-19 แล้ว ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เราปล่อยสินเชื่อได้ 1.8 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายรายเดือนนิดหน่อย แต่ว่ายอดสะสม ณ 16 ก.ย. อยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท คาดว่า จากนี้ จะปล่อยได้ 2 หมื่นล้านบาทบวกลบ ไม่รวมปลายปีที่จะมีการเร่งยอดจากดีเวลลอปเปอร์เข้ามา น่าจะปิดสินเชื่อปล่อยใหม่ได้ที่ 2.15 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้