ลั่นครั้งแรก! แจ้งจับ 'เฟซบุ๊ก-ยูทูบ-ทวิตเตอร์-ชาวโซเชียล' คดีหมิ่นสถาบันฯ

ลั่นครั้งแรก! แจ้งจับ 'เฟซบุ๊ก-ยูทูบ-ทวิตเตอร์-ชาวโซเชียล' คดีหมิ่นสถาบันฯ

รมว.ดิจิทัลฯ ลั่นครั้งแรก! แจ้งจับ "เฟซบุ๊ก-ยูทูบ-ทวิตเตอร์-ชาวโซเชียล" คดีหมิ่นสถาบันฯ - เผย 982 คดีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ในการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลเนื้อหาไม่เหมาะสม

เมื่อเวลา 11.20 น. วันนี้ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายถุชงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวง ดีอีเอส พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย เข้ายื่นเอกสารให้กับ พันตำรวจเอก ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการและโฆษก บก.ปอท. เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่ส่งต่อข้อความในลักษณะหมิ่นสถาบัน ในห้วงระหว่างการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาวันที่ 19-20 กันยายน ที่ผ่านมา พร้อมดำเนินคดีผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม จำนวน 982 คดี

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (24 ก.ย. 63) นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกล่าวโทษร้องทุกข์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีการชุมนุมทางการเมืองที่ผู้ชุมนุมอ้างว่าเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและสามารถทำได้ตามกฎหมาย เนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. ที่ผ่านมา มีการใช้ Social Media โพสต์ข้อความต่างๆ ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือพาดพิงสถาบันหลักของประเทศ จำนวน 5 ยูอาร์แอล ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ดังนี้

- เฟซบุ๊ก 4 ยูอาร์แอล
- ทวิตเตอร์ 1 ยูอาร์แอล

โดยการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีครั้งนี้ มุ่งดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้อมูลที่ผิดกฎหมายซึ่งไม่ใช่เป็นผู้แชร์ต่อ จึงมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปแจ้งความต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อดำเนินคดี เพื่อเอาผิดกับผู้นำเข้าข้อความที่ไม่เหมาะสม 5 รายดังกล่าว

ทั้งนี้ ที่มีจำนวนผู้กระทำผิดไม่มากเป็นเพราะกระทรวงฯ ต้องการให้มีการดำเนินคดีกับบุคคลแรกที่เป็นผู้นำเข้าข้อมูลเท่านั้น

รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า กระทรวงฯ ยังพร้อมดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ เพจ หรือเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายที่ไม่ดำเนินการปิดภายใน 15 วัน ตามที่มีการส่งหนังสือไปแจ้งเตือนไอเอสพีเพื่อดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึง/ปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมายก่อนหน้านี้

ที่ผ่านมา ในช่วง ส.ค. – 24 ก.ย. มียอดร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้นำเข้าข้อมูลคอมฯ ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมฯ รวมจำนวน 13 บัญชี/รายการ และมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ตามมาตรา 27 ที่ไม่ปฏิบัติตาม คำสั่งศาลฯ จำวน 2 ราย (เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์) ซึ่งไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลผิดกฎหมาย/ปิดเว็บไซต์ภายใน 15 วันหลังจากได้รับคำสั่งศาล

จากการติดตามความร่วมมือดำเนินการตามคำสั่งศาลจากแพลตฟอร์มต่างๆ ประกอบด้วย

- เฟซบุ๊ก 661 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 225 ยูอาร์แอล
- ยูทูบ 289 ยูอาร์แอล (ปิดลิงค์ให้ครบแล้ว)
- ทวิตเตอร์ 69 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 5 ยูอาร์แอล
- เว็บอื่นๆ จำนวน 5 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 4 ยูอาร์แอล เหลือ 1 ยูอาร์แอล บนแพลตฟอร์ม(ไอจี) ซึ่งมีเฟซบุ๊กเป็นเจ้าของ

เราจะฟ้องไปยังบริษัทแม่ของทุกองค์กร ซึ่งตำรวจจะใช้กฎหมายไทย เพราะความผิดเกิดขึ้นที่ไทย เชื่อว่าตำรวจจะสามารถดำเนินคดีได้แม้ว่าจะอยู่ที่ใด หลังจากนี้ยังมีอีกกลุ่มที่ดีอีเอสกำลังรวบรวมข้อมูลกว่า 3,000 รายการ เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับสื่อลามก สถาบัน ยาเสพติด ละเมิดลิขสิทธิ์ 

ด้าน พันตำรวจเอก ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ตำรวจจะดำเนินการใน 2 ส่วน สำหรับผู้ให้บริการที่ไม่ปิดกั้นข้อมูลแม้มีคำสั่งศาลไปแล้ว จะใช้อำนาจกฎหมายตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษตามมาตรา 27 ปรับเป็นเงินโพสต์ละ 2 แสนบาท และปรับเพิ่มเป็นรายวันละ 5,000 บาท ส่วนคดีมีผู้โพสต์ข้อความไม่เหมาะสมช่วงการชุมนุมก็จะสืบสวนตามขั้นตอนต่อไป

และรายงานแจ้งว่า แกนนำนักศึกษาที่ทางดีอีเอสแจ้งความดำเนินคดี ได้แก่ นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิน