'ทีโอที' อัด 100 ล้าน ลุยธุรกิจดาวเทียม

'ทีโอที' อัด 100 ล้าน ลุยธุรกิจดาวเทียม

จับมือ “มิว เปซ” ทดสอบบริการเสริมเขี้ยวเล็บ 5จี

ทีโอที จับมือ มิวสเปซ ลุยดาวเทียมวงโคจรต่ำ ทดสอบบริการดาต้า เซ็นเตอร์ในอวกาศ พร้อมปรับเกตเวย์ภาคพื้นดินระยะแรก 100 ล้านบาท รับธุรกิจดาวเทียมในอนาคต มั่นใจเทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรต่ำจะเป็น Disruptive Technology ที่จะมาทดแทนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มีสาย และบริการดิจิทัลรูปแบบอื่นๆ พร้อมช่วยเสริมความแกร่งในการใช้เทคโนโลยี 5จี อย่างเต็มรูปแบบ

นายมรกต เธียรมนตรี รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีโอที ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกับ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด เพื่อศึกษาและวิจัยความเป็นไปได้และโอกาสในการดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีไร้สาย ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) โดย ทีโอที ได้จัดคณะทํางาน เพื่อดําเนินการศึกษาพร้อมกับการพัฒนาบุคลากรจำนวน 50 คน และงบประมาณเบื้องต้น 100 ล้านบาท เพื่อสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดาวเทียมในอนาคต โดยตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำในการให้บริการและเป็นศูนย์กลางเกตเวย์ภาคพื้นดิน ให้บริการสเปศ ไอดีซี และ ดิจิทัล แพลตฟอร์มในอนาคต

ทั้งนี้ ทีโอที ได้สร้าง Server Payload ที่ประกอบด้วย Web Server, IoT Platform และ Big Data Device เพื่อการส่งอุปกรณ์ขึ้นไปทดสอบกับ Blue Origin จรวดของบริษัทในเครือ อเมซอน ประเทศอเมริกา ซึ่งได้ผ่านการทดสอบแล้วทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และจะทดลองยิงขึ้นสู่วงโคจรในวันนี้ (24 ก.ย.) เวลา 22.00 น. โดยทีโอทีได้ให้โอกาสเด็กเยาวชนจากโครงการ TOT Young Club เข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนโปรแกรมเพื่อติดตั้งไปพร้อมกับอุปกรณ์ของ ทีโอที จึงนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างโดยนักเรียนมัธยม และเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการนำดาต้า เซ็นเตอร์ขึ้นไปทดสอบในอวกาศเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจในอนาคต เนื่องจาก อวกาศมีสภาพแวดล้อมเหมาะกับดาต้า เซ็นเตอร์ที่ใช้ระบบประมวลผลสูง รวดเร็ว ที่ต้องการระบบทำความเย็นที่อุณหภูมิติดลบเกือบ 300 องศาเซลเซียส

“เราไม่ได้เก่งกล้าที่จะไปรุกธุรกิจดาวเทียมแต่ทุกอย่างเกิดจากความกลัว กลัวว่าในอนาคตทีโอทีจะยืนอยู่ตรงไหนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและในอนาคตจะหลอมรวมเข้าสู่ทุกอย่าง ดังนั้น ทีโอทีจึงต้องวางแผนรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และเราต้องดิสรัปชั่นตัวเองก่อนที่จะถูกดิสรัป ดังนั้น ทีโอที มีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ครบทุกด้าน ทั้งในเรื่องท่อร้อยสายใต้ดิน เสาสัญญาณสื่อสารโทรคมนาคม และสายไฟเบอร์ออปติก ซึ่งถือเป็นโครงสร้างสำคัญที่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำต้องการ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของทีโอที ที่จะมุ่งไปสู่บริการ Space IDC และ Space Digital Platform ซึ่งในอนาคตสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้านอวกาศจะมีศักยภาพสูงในหลายด้าน "

ขณะที่ นายวรายุทธ เย็นบำรุง กรรมการและ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิว สเปซ กล่าวว่า การให้บริการเครือข่ายสถานีภาคพื้นดิน บริการการรับและส่งสัญญาณดาวเทียมในระบบวงโคจรต่ำ รองรับการใช้งาน เทคโนโลยีเครือข่าย 5จี ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จะทําให้การสื่อสารกระจายครอบคลุมไป ทั่วทุกพื้นที่มากยิ่งขึ้น ทั้งพื้นที่ที่ห่างไกลซึ่งเสาสัญญาณไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นประโยชน์และมีความสําคัญอย่างมากต่อการสื่อสารในอนาคตที่กําลังจะเกิดขึ้น ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถเข้าถึงการศึกษา ความรู้ อาชีพ และโอกาสต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม และยังเป็นการยกระดับเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารของไทยให้มีความสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างทัดเทียม