จับตา! ผลโหวตลงมติ 'ร่างแก้ รธน.' พบความเห็นแยก 3 กลุ่ม

จับตา! ผลโหวตลงมติ 'ร่างแก้ รธน.' พบความเห็นแยก 3 กลุ่ม

การอภิปรายของ ส.ว. ต่อที่ประชุมรัฐสภา วาระแก้ รธน. วันแรก สะท้อนความคิดที่แยก 3 กลุ่ม จับตา "ส.ว." โหวตรับ

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 6 ฉบับนั้นในวันแรกนั้น สมาชิกรัฐสภา ได้สลับขึ้นอภิปรายแสดงความคิดเห็น ทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุนต่อเนื้อหา อาทิ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว., นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ​อภิปรายยืนยันจะลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่แก้ไขมาตรา 256 และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงฉบับที่ว่าด้วยตัดอำนาจ ส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกในที่ประชุมรัฐสภา

ขณะที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน อภิปรายสนับสนุนเนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เนื่องจากมองว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีปัญหาและจำเป็นต้องแก้ไข เช่น มาตราว่าด้วยการกระจายอำนาจ, การปกครองท้องถิ่น

อย่างไรก็ดียังมีสมาชิกรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับญัตติแก้รัฐธรรมนูญ อาทิ น.ส.จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย , นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์

ทั้งนี้เมื่อสมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายตามลำดับจนครบตามที่ลงชื่อไว้ในการอภิปรายวันแรกแล้ว เมื่อเวลา 00.30 น.​นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ฐานะประธานที่ประชุมกล่าวพักการประชุม และให้กลับมาพิจารณาอีกครั้งวันที่ 24 กันยายน เวลา 09.30 น.

ขณะที่การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา กำหนดให้ใช้การลงคะแนนโดยเปิดเผย ด้วยการขานชื่อว่าจะรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทีละฉบับ เบื้องต้น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ​ ฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ระบุว่าจะเริ่มลงมติทีละฉบับ ได้ก่อนเวลา 18.00 น. และทราบผล ประมาณ 22.00 น.

สำหรับการลงมตินั้น ต้องจับตาการลงคะแนนของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญ​ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดไว้ ว่าเสียงเห็นชอบในวาระรับหลักการต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของสองสภา คือ 737 เสียง ดังนั้นต้องได้เสียง 369 เสียง ทั้งนี้จำนวนดังกล่าวต้องมีเสียงส.ว.ลงมติรับหลักการด้วย ไม่ต่ำกว่า 84 เสียง

โดยการอภิปรายของส.ว. เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา พบว่าแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาทุกฉบับ, กลุ่มที่เห็นด้วยกับร่างแก้ไข มาตรา 256 และตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญและกลุ่มที่เสนอให้ทอดเวลาก่อนลงมติรับหลักการ อาทิ ตั้งกรรมการศึกษา , ทำประชามติถามประชาชนก่อนแก้ไข ขณะที่ส.ส. นั้นคาดว่ากลุ่มของพรรคร่วมพลังประชาชาติไทย, พรรคเสรีรวมไทย และส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ในปีกของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรคร่วมพลังประชาชาติไทย จะลงมติไม่รับหลักกการ