หนังเล่าโลก: Tesla อัจฉริยะกับนายทุน

หนังเล่าโลก: Tesla อัจฉริยะกับนายทุน

การเกิดมาเป็นคนฉลาดปราดเปรื่องระดับอัจฉริยะถือว่าโชคดี แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้นควรมีทุนหนาด้วย เพื่อทำความคิดความฝันให้เป็นจริงได้ ไม่ต้องกลายเป็นอัจฉริยะผู้อาภัพอย่างภาพยนตร์เรื่อง “Tesla”

Tesla ผลงานการกำกับของ ไมเคิล อัลเมอร์เรย์ดา บอกเล่าเรื่องราวของนิโคลา เทสลา นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย ที่เคยทำงานในบริษัทของโทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ชื่อก้องโลก ทั้งคู่ขับเคี่ยวกันเรื่องกระแสไฟฟ้าที่นำมาใช้กับเครื่องกล เอดิสันนั้นเชื่อมั่นในไฟฟ้ากระแสตรง (ดีซี) ส่วนเทสลาเชื่อมั่นในไฟฟ้ากระแสสลับ (เอซี)

เมื่อความคิดต่างกันสุดขั้ว อีกทั้งการทำงานกับผู้ยิ่งใหญ่อย่างเอดิสัน นักประดิษฐ์โนเนมก็เป็นได้แค่ไม้เล็กที่ไม่วันเติบโตได้ภายใต้ร่มเงาของต้นโอ๊ค เทสลาจำต้องแสวงหาทางเดินใหม่เพื่อพิสูจน์ความเชื่อของตน หนังเล่าเรื่องเส้นทางการต่อสู้ของเทสลาผ่านปากคำ “แอนน์ มอร์แกน” หญิงสาวผู้หลงรักอัจฉริยะโลกลืมเพียงข้างเดียว แต่ก็ช่วยเหลือเขามาตลอดทั้งกำลังใจและกำลังเงิน

ความสามารถของเอดิสัน ผู้ได้ฉายาว่า “อัจฉริยะตัวจริง” กับ เทสลา เจ้าของฉายา “อันธพาล” เป็นหัวข้ออภิปรายในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาโดยตลอด ผู้เขียนไม่ได้สนใจเทคโนโลยีใดๆ ทั้งนั้น ที่ไปดู Tesla เพราะคิดถึงบริษัทเทสลา ของอีลอน มัสก์ ผู้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง มัสก์ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเทสลา เพียงแค่ตั้งชื่อบริษัทตามนักประดิษฐ์ในอดีต แถมเขายังไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ของนิโคลา เทสลาเสียด้วยซ้ำ เรื่องนี้เว็บไซต์เทคไทม์สเคยรายงานไว้

เมื่อถามว่าเอดิสันกับเทสลาใครเก่งกว่ากันในทัศนะของมัสก์ เจ้าตัวเลือกเอดิสัน เหตุผลที่มัสก์เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2551 คือ “เอดิสันนำสิ่งประดิษฐ์ออกสู่ตลาด คนทั้งโลกได้ใช้ผลงานของเขา แต่เทสลาไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย”

ในเมื่อไม่ได้เป็นบิ๊กแฟน แล้วทำไมมัสก์ถึงเลือกชื่อเทสลามาตั้งเป็นชื่อบริษัท

“เทสลาควรได้รับอะไรเล็กๆ น้อยๆ มากกว่าที่เขาได้จากแวดวงไฟฟ้า แต่เพื่อความสมดุล ผมก็เลยชอบเอดิสันมากกว่าเทสลาไงล่ะครับ” มหาเศรษฐีไฮเทคชี้แจง

กลับไปสู่โลกภาพยนตร์ การประดิษฐ์ของเทสลาต้องเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ที่คนไทยคุ้นชื่อก็มาก เช่น เวสติ้งเฮาส์ บริษัทไฟฟ้าที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าทั่วสหรัฐ ช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัทได้เทสลามาทำงานด้วย เวสติ้งเฮาส์เป็นคู่แข่งกับบริษัทของเอดิสัน ที่ภายหลังเอดิสันไปควบรวมกับ “ทอมสัน-ฮิวส์ตัน อิเลคทริค” กลายเป็น “เจเนอรัลอิเลคทริค” (จีอี) ใหญ่กว่าเวสติ้งเฮาส์เสียอีก

แม้กระทั่ง “แอนน์ มอร์แกน” เธอนั้นไม่ธรรมดา เพราะเป็นลูกสาวของ “เจ พี มอร์แกน” หรือ จอห์น เพียร์พอนต์ มอร์แกน บิ๊กเนมภาคการเงินที่ชื่อเสียงยังอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้ ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารเจพีมอร์แกน เมื่อปี 2414 อีกทั้งยังสร้างบริษัทใหญ่หลายแห่งในสหรัฐ เช่น ยูเอสสตีล ด้วย

มอร์แกนผู้พ่อให้ทุนสนับสนุนแก่เทสลาหลายครั้งแต่สุดท้ายต้องเลิกให้ด้วยมองว่า ความคิดสุดล้ำของเทสลายากจะเป็นจริง จึงไม่ผิดนักหากจะเรียกว่า เทสลา คือ “อัจฉริยะผู้มาก่อนกาล” เขาเคยพูดถึงเทคโนโลยีที่เราใช้กันทุกวันนี้มาก่อนหน้านานมากแล้ว เช่น ปี 2469 เทสลา กล่าวว่า “เมื่อระบบไร้สายถูกประยุกต์ใช้เต็มรูปแบบ โลกจะถูกแปลงเป็นสมองขนาดใหญ่ซึี่งสามารถตอบสนองทุกคนได้ทั่วโลก” ซึ่งนั่นก็คืออินเทอร์เน็ต หรือ “ในศตรวรรษที่ 21 หุ่นยนต์จะทำหน้าที่เหมือนทาสของมนุษย์ เหมือนที่เราใช้มนุษย์เป็นทาสในสมัยก่อน” ที่เขาพูดไว้ในปี 2480 ซึ่งก็คือเอไอในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่ปวดร้าวที่สุดสำหรับนักประดิษฐ์อัจฉริยะคือการไม่มีเงินสานฝัน ตัดสินใจบากหน้าไปหานายทุนก็ยังถูกปฏิเสธ ส่วนคนที่เจ็บปวดไม่แพ้กันคือคนดูที่ได้รับรู้ว่า เทคโนโลยีดีๆ อาจเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้วถ้ามีเงินทุนสนับสนุน การเป็นอัจฉริยะในโลกทุนนิยมจึงยากลำบากเช่นนี้