ธปท.เข้มแบงก์สกัด‘ฟอกเงิน’ ยืนยันกำกับดูแลใกล้ชิด

ธปท.เข้มแบงก์สกัด‘ฟอกเงิน’  ยืนยันกำกับดูแลใกล้ชิด

“แบงก์ชาติ” มั่นใจตรวจสอบดูแล สถาบันการเงินใกล้ชิด สกัดฟอกเงิน-สนับสนุนก่อการร้าย ย้ำหากพบธุรกรรมน่าสงสัยต้องรายงานปปง. ส่วนกรณีเอกสาร FinCEN พบ “4 แบงก์ไทย” มีธุรกรรมน่าสงสัย ไม่ได้หมายความเป็นธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย ชี้ยังต้องรอตรวจสอบ

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยืนยันว่า ได้กำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงินให้มีกระบวนการป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง(AML/CPTF) ตั้งแต่ขั้นตอนการทำความรู้จักตัวตนลูกค้า (KYC/CDD) 

รวมไปถึงการตรวจสอบและการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำหนดอย่างเคร่งครัด โดย ธปท. และ ปปง. ประสานงานกันเพื่อกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธปท. กล่าวย้ำว่า เมื่อสถาบันการเงินพบธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยตามหลักเกณฑ์ที่ ปปง. กำหนด ก็มีหน้าที่ต้องรายงานต่อ ปปง. ซึ่งเรียกว่ารายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (Suspicious Transaction Report: STR) ซึ่ง ปปง. จะนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์และตรวจสอบ เพื่อดูว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ 

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกธุรกรรมที่ถูกรายงานใน STR จะเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเสมอไป จึงต้องตรวจสอบก่อนที่จะสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่

การออกมาให้ความเห็นของ ธปท. ครั้งนี้ สืบเนื่องจาก การรายงานข่าวของสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ(ICIJ) ที่เผยแพร่เอกสารลับของเครือข่ายสืบสวนอาชญากรรมทางการเงินสหรัฐ(FinCEN) ที่ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั่วโลกได้ปล่อยให้มีการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายจำนวนมากเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ และในจำนวนนี้พบ ธนาคารจากประเทศไทย รวม 4 แห่ง อาจมีกิจกรรมที่น่าสงสัยรวมเป็นมูลค่ากว่า 41.3 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,239 ล้านบาท

นายจาตุรงค์ กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีข่าวสถาบันการเงินของไทย 4 แห่ง มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัย โดยใช้ข้อมูลจากรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยที่รั่วไหลจากหน่วยงาน FinCEN นั้น ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่สถาบันการเงินภายใต้กฎหมายของสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมที่น่าสงสัยต่อ FinCEN เป็นปกติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอยู่แล้ว และไม่ได้หมายความว่าธุรกรรมที่ถูกรายงานจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเสมอไป แต่เนื่องจากข้อกล่าวหาที่เป็นข่าวอยู่นั้น ไม่ได้มาจาก FinCEN หรือหน่วยงานทางการใดๆ เรื่องนี้จึงขอให้รอการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

นายผยง ศรีวณิชกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากกรณีกระแสข่าวการรายงานธุรกรรมต้องสงสัยจากเอกสารของ FinCen ที่หลุดออก ซึ่งมีรายชื่อของธนาคารเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัยนั้น

ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล และ ตอนนี้ธนาคารยังไม่ได้รับเอกสารจากทางการ หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอบถามถึงธุรกรรม หรือ รายการโอนที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามธนาคารพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐทั่วโลก ที่จะตรวจสอบหาข้อเท็จจริงของธุรกรรมต้องสงสัยทั้งหมด ที่ผ่านมาทางธนาคารได้ประสานกับทาง ปปง. และธปท. ตลอดเวลาอยู่แล้ว

“ เราไม่ทราบที่มาที่ไปของแหล่งข้อมูล โดยตอนนี้เราต้องตรวจสอบ ข้อเท็จจริงที่มาของแหล่งข้อมูล ว่าเป็นข้อมูลส่วนไหน ได้รับอย่างไรก่อน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต้องมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป”

ส่วนการเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบว่า ยังคงลดลงต่อเนื่อง นำโดยหุ้น ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ซึ่งวานนี้(23ก.ย.) ปิดตลาดลดลง 2.94% ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ลดลง 1.79% ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ลดลง 0.39% ธนาคารกรุงไทย(KTB) ลดลง 1.10% ส่วน ธนาคารกรุงศรี(BAY) เพิ่มขึ้น 0.51%