ปัญหา Covid กับนโยบายเศรษฐกิจ

ปัญหา Covid กับนโยบายเศรษฐกิจ

ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากพิษโควิด-19 แม้วิกฤติไวรัสจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์ภายนอกประเทศยังต้องเฝ้าระวังตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน วันนี้ความหวังในการฟื้นเศรษฐกิจ จึงตกไปอยู่ที่นโยบายเศรษฐกิจจากรัฐบาลที่จะมากระตุ้น

ปัญหา Covid-19 กำลังทำให้ประเทศไทยกำลังเจอปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน แม้ว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์การติดเชื้อภายในประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จ แต่ปัญหานอกประเทศยังมีความรุนแรง จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันทั่วโลกยังคงสูงต่อเนื่อง ในบางพื้นที่เช่นประเทศกลุ่มยุโรป กำลังเจอการติดเชื้อรอบสองที่ดูเหมือนอาจจะรุนแรงกว่ารอบแรก จำนวนผู้ติดเชื้อในอินเดียเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจจะกลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในไม่ช้า และมีความเสี่ยงที่จะลามมาประเทศใกล้เคียงเราอย่างเมียนมา จนต้องเริ่มปิดเมืองกันในบางพื้นที่

กว่าที่โลกจะมีวัคซีน และสามารถผลิตจนฉีดให้คนส่วนใหญ่ของโลกได้ เราอาจจะต้องรอกันไปอีกอย่างน้อย 9-12 เดือน หรือนานกว่านั้น และผลสำเร็จของวัคซีนก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก และคนส่วนใหญ่ของโลกจะยอมฉีดวัคซีนหรือไม่ก็ยังเป็นที่กังขากันอยู่

สภาพปัญหาเช่นนี้ อาจจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่แบบที่เคยหวังได้ในเร็วๆ นี้ หรือแม้จะพยายามเปิดก็คงต้องมีระยะกักตัวอย่างน้อย 14 วัน ทำให้ผู้เดินทางที่มาได้ จำกัดอยู่เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น

เพราะการใช้จ่ายโดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศนับเป็นกว่า 12% ของ GDP ไทยเมื่อปีก่อน เมื่อนักท่องเที่ยวมาแทบไม่ได้ ก็แปลว่าอุปสงค์ในเศรษฐกิจไทย หดหายไปประมาณๆ นั้น โดยที่ยังไม่มีอะไรมาทดแทนได้

แม้เศรษฐกิจอาจจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ถ้าเศรษฐกิจยังกลับไปเป็นเหมือนเดิมไม่ได้ ก็แปลว่ายังมีธุรกิจที่เคยผลิตสินค้าหรือบริการให้กับอุปสงค์ที่หายไป กลายเป็นอุปทานส่วนเกินในระบบ ยิ่งสภาพปัญหานี้ยาวธุรกิจเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะขาดกระแสเงินสด ผิดนัดชำระหนี้ การเลิกกิจการ และนำไปสู่การเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างล่าช้าและเปราะบาง เศรษฐกิจปีหน้าจึงอาจจะไม่ได้เด้งกลับไปแรงๆ และคาดว่าจะใช้เวลามากกว่าสามปีกว่าเศรษฐกิจจะกลับไปสู่ระดับก่อนมีปัญหา Covid-19

เมื่อสภาพเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ นโยบายเศรษฐกิจจึงต้องเน้นทั้งการเยียวยาครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน หรือปรับทักษะที่จำเป็นกับแรงงาน และเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ตรงความต้องการของท้องถิ่นเพื่อต่อยอดการสร้างรายได้ในอนาคต และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและการจัดหาสภาพคล่องสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเพียงพอ

ถ้าจากดูตัวเลขมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายด้านการคลัง 1 ล้านล้านบาท (ประมาณ 6% ของ GDP) แต่หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเงินออกไปช้ากว่าที่ควร มาตรการด้านการคลังถูกใช้ไปประมาณแค่ครึ่งเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเยียวยา แต่งบฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังคงค่อนข้างล่าช้า และน่าจะมีความจำเป็นต้องเร่งการคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมและอนุมัติงบประมาณเหล่านี้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและรองรับแรงงาน

ระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยกำลังจะเพิ่มสูงขึ้นก็เป็นประเด็นที่น่ากังวลแต่เนื่องด้วยระดับอัตราดอกเบี้ยและต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลไทย ได้ปรับลดลงมาค่อนข้างมากในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ภาระดอกเบี้ยเงินกู้ในเงินงบประมาณมีน้อยลง ทำให้รัฐบาลยังมีศักยภาพในการกู้เพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หากมีความจำเป็น

แต่ด้วยภาระด้านการคลังของรัฐบาลในระยะยาว ทั้งจากปัญหาโครงสร้างประชากร และฐานรายได้ภาษีของรัฐที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงปัจจัยสามข้อ ก่อนสร้างภาระหนี้เพิ่มเติม เพื่อรักษาระดับหนี้ต่อรายได้ ให้มีความยั่งยืน

หนึ่ง ต้องแน่ใจว่าเงินที่กู้มานำไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ การวิเคราะห์ ติดตามและประเมินผลการใช้เงิน จึงมีความสำคัญมาก ว่าการใช้เงินตอบโจทย์เหล่านี้หรือไม่

สอง การกู้เงินเพิ่มควรคำนึงถึงผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยต้นทุนการกู้ยืมเงิน การสื่อสารกับตลาดและสร้างความมั่นใจกับตลาดว่ารัฐบาลมีแผนในการรักษาวินัยทางการคลัง

และสาม ควรจัดทำแผนการคลังระยะยาวบนพื้นฐานของข้อสมมติที่เหมาะสม เพื่อลดการขาดดุลการคลังในอนาคตหลังปัญหาเศรษฐกิจหมดไป เช่น แผนปรับลดขนาดของรัฐ หรือแผนเพิ่มรายได้ (ขึ้นอัตราภาษีหรือฐานภาษี) ในระยะเวลาข้างหน้า

ปัญหาที่รัฐบาลควรกังวลตอนนี้ จึงไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะกู้เพิ่มได้หรือไม่ แต่จะเอาเงินไปใช้อย่างไรให้เกิดผลดีที่สุดกับเศรษฐกิจระยะยาว ทันกาล ถูกฝาถูกตัว และรั่วไหลน้อยที่สุด และยังรักษาวินัยทางการคลังในระยะยาว