วิวาทะ 'ส.ว.-ส.ส.ฝ่ายค้าน' สะท้อนปมสะดุดแก้รธน.

วิวาทะ 'ส.ว.-ส.ส.ฝ่ายค้าน' สะท้อนปมสะดุดแก้รธน.

เวทีรัฐสภา เปิดให้ถกเถียงเรื่อง “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ก่อนจะลงมติรับหรือไม่รับหลักการ เพื่อเดินไปสู่การนับหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในวันแรก เริ่มปรากฏเค้าลางความขัดแย้ง และความมีอคติต่อกันที่ชัดเจน ระหว่าง สภาผู้แทนราษฎร พรรคฝ่ายค้าน และวุฒิสภา

โดยฝ่ายค้านตั้งป้อม "ปิดสวิตช์ ส.ว.” ผ่านการริบอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี และติดตาม เร่งรัด เสนอแนะงานปฏิรูปและงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะสิ่งที่พวกเขาคิด คือ ส.ว. เป็นกลไกสืบทอดอำนาจให้กับคณะรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นองคาพยพที่นำไปสู่การอยู่ยั้งยืนยงของระบอบประยุทธ์ในปัจจุบัน

ดังนั้นจำเป็นต้องโละ “ส.ว.ชุดปัจจุบัน” แต่ครั้นจะโละแบบตรงๆ คงไม่เป็นผลดี จึงใช้วิธีเดินเกม ริบอำนาจที่เป็นหัวใจและต้นกำเนิด “ส.ว.แต่งตั้ง” ผ่าตัดอำนาจว่าด้วย การปฏิรูป

ขณะที่ ส.ว.เอง ก็ทราบถึงเจตนารมณ์ในข้อนี้ แม้ร่างรัฐธรรมนูญที่สภาฯ เสนอจะไม่เขียนรายละเอียดชัด แต่หากผ่านการพิจารณาไปได้ “ส.ว.ในบทเฉพาะกาล” คงไม่ถูกบัญญัติไว้

จึงกลายเป็นข้อเสนอแรงๆ จาก ส.ว. ว่า หากต้องการโละ หรือ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ทางเดียวที่ควรทำ คือ ให้นายกฯ ยุบสภาฯ เพื่อจะได้ตกไปตามกัน ทั้ง “สภาผู้แทนราษฎร” และ “วุฒิสภา”

นอกจากนั้น ยังพูดแรงๆ ถึงข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ที่เพื่อประโยชน์ของบางพรรค บางฝ่าย ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ประชาชน ผ่านปากของ “จเด็จ อินสว่าง”

วิวาทะนี้สะท้อนให้เห็นชัด ถึงความไม่ลงรอยกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อการลงมติ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับที่สภาฯ เสนอให้แก้ไข

นอกจากนั้น ยังมี ประเด็นที่เสนอให้ “ทอดเวลา” พิจารณา ทั้งให้ทำประชามติก่อนที่รัฐสภาจะลงมติรับหรือไม่รับหลักการวาระแรก รวมถึงกระแสที่จะมีผู้เสนอตั้ง “กรรมาธิการของรัฐสภาเพื่อศึกษาเนื้อหาก่อนลงมติรับหลักการ”

อย่างไรก็ดี การอภิปรายของ ส.ว.และการตอบโต้นั้น ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า “ส.ว.ทั้งหมด” จะลงมติเป็นอย่างไร

แม้จะมี “ส.ว.” ที่เคยแสดงความเห็น สนับสนุน แต่ยังไม่ชัดว่า จะครบเกณฑ์ที่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดไว้ คือ ต้องใช้เสียงส.ว.เห็นชอบด้วยในวาระแรก จำนวน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง หรือไม่

ดังนั้น ในเวลาที่เหลืออยู่ ก่อนลงมติรับหรือไม่รับหลักการ ควรแสวงหาความร่วมมือมากกว่าการชี้นิ้วตราหน้าว่า “อีกฝ่ายนั้นคือตัวปัญหา"