สภาถก '6 ญัตติ' ดันตั้งส.ส.ร. - ส.ว.สวนทรยศ '1.6 ล้านเสียง'

สภาถก '6 ญัตติ' ดันตั้งส.ส.ร. - ส.ว.สวนทรยศ '1.6 ล้านเสียง'

สภาฯ ถก 6 ญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ดันตั้ง ส.ส.ร. เพื่อไทยจี้ร่วมมือฝ่าวิกฤติ ด้าน ส.ว.รุมค้าน ชี้ตั้งส.ส.ร.ตีเช็คเปล่า-ประชามติทรยศ “1.6 ล้าน” เสียงเห็นชอบ “น้องวิษณุ” ลั่นกลางสภา พร้อมลาออก

​การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คือร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งมี ส.ส.ร่วมกันเข้าชื่อทั้งสิ้น 6 เรื่อง ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้าวานนี้(23ก.ย.) โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงหลักการและเหตุผลต่อการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้าน รวม 5 ฉบับ 

ได้แก่ 1.ฉบับแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการปลดล็อกเกณฑ์การพิจารณาเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น และเพิ่มหมวดว่าด้วยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 

2.ฉบับยกเลิกมาตรา 279 ว่าด้วยการนิรโทษกรรมการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 3.ฉบับแก้ไขมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ว่าด้วยกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา 

4. ฉบับยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271 ว่าด้วยอำนาจส.ว.ต่อการติดตาม เร่งรัด และเสนอแนะการปฏิรูปประเทศและพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยกาปฏิรูป และ 5.ฉบับว่าด้วยการแก้ไขระบบเลือกตั้ง

จากนั้นนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และประธานวิปรัฐบาล ในฐานะผู้นำเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยมาตรา 256 และตั้งหมวดใหม่ว่าด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวถึงเหตุผลว่า พปชร.ไม่มีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ แต่ตอนตั้งรัฐบาลผสม ทำให้ต้องกำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายรัฐบาล 

สำหรับเหตุผลที่เสนอแก้ไขตอนนี้ เพราะการเคลื่อนไหวของการชุมนุมทั้งฝ่ายที่ต้องการให้แก้ไขและฝ่ายที่ไม่ต้องการแก้ไข ทั้ง การแก้ไขเล็กหรือน้อย เชื่อว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้น

ทั้งนี้ยืนยันว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 หมวดสถาบันพระมหากษัตริย์” นายวิรัช กล่าว

เพื่อไทยชี้คืนอำนาจประชาชน 

จากนั้นเป็นการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส. กทม.เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดหลักการประชาธิปไตย เพราะมีความประสงค์ที่จะทำให้การเมืองอ่อนแอ ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย หมดความน่าเชื่อถือต่อประชาคมโลก ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ต้องรีบยุติปัญหาทางการเมืองโดยเร็วที่สุด ด้วยการคืนอำนาจให้ประชาชนไปร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนเอง 

ส่วนที่หลายคนกังวลว่าเป็นการตีเช็คเปล่า ตนเห็นว่าการตั้ง ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและประชาชนโดยการทำประชามติก่อน จึงไม่ใช่การตีเช็คเปล่า

“จุรินทร์”อภิปรายย้ำจุดยืนปชป.

ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นไปตามตามมติของพรรคประชาธิปัตย์ สำหรับเนื้อหานั้นจะสนับสนุนการปรับแก้ไขเนื้อหารัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยสิทธิชุมชน สิทธิผู้ด้อยโอกาส การกระจายอำนาจ จัดการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อผลการเลือกตั้งแบบเบี้ยหัวแตก ที่กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล 

อย่างไรก็ตามพรรคสนับสนุนให้มีวุฒิสภา หากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งควรถูกจำกัดอำนาจ เฉพาะการกลั่นกรองกฎหมาย และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ระหว่างยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยส.ส.ร.​ พรรคจะสนับสนุนให้การทำรัฐธรรมนูญ ทำโดยรวดเร็ว ขณะที่หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์จะไม่แก้ไข

“เสรีพิศุทธิ์”จี้ดันร่างฉบับประชาชน

จากนั้นบรรยากาศเริ่มเป็นอย่างดุเดือดเมื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อภิปรายไม่เห็นด้วยต่อการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งจากฝ่ายค้าน และ ฝ่ายรัฐบาล เพราะเชื่อว่าเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเอง และมองว่าการพิจารณาญัตติดังกล่าว คือการต่ออายุให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมให้อยู่ในอำนาจ 

ดังนั้นจึงเสนอความเห็น คือให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง เห็นชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนำฉบับประชาชนพิจารณา จากนั้นยุบสภาเพื่อเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทั้งนี้วิธีที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกคือให้พรรคร่วมรัฐบาล คือนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และนายจุรินทร์ออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

“บิ๊กติ๊ก”ประท้วงพาดพิงบุตรชาย

จากนั้นพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อภิปราย ยังคงเน้นย้ำถึงเหตุผลควรแก้รัฐธรรมนูญ เพราะมีระบบสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​การโฆษณาว่ารัฐธรรมนูญเป็นฉบับปราบโกง ทั้งที่พบการทุจริต ทั้งการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ การตั้งบริษัทโดยหลานชายของพล.อ.ประยุทธ์

ทำให้ส.ส.ฝั่งรัฐบาล และส.ว.โดยเฉพาะ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว.น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ลุกประท้วง และชี้แจงกรณีมีการพาดพิงถึงบุตรชายว่า “คนเรามีสิทธิ์ประกอบอาชีพของตนเอง และอาชีพที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ใส่ร้ายป้ายสี นำเรื่องไม่จริงกล่าวกับที่ประชุมแห่งนี้ ผมขอให้ผู้อภิปรายถอนคำพูด” 

ตั้งส.ส.ร.ตีเช็คเปล่า-ทรยศปชช.

ขณะที่การอภิปรายในส่วนของ ส.ว.หลายคน ได้คัดค้านการตั้งส.ส.ร.เนื่องจากเกรงว่าเป็นการตีเช็คเปล่า ไม่รู้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง และมีความเสี่ยงสูงที่จะสร้างความขัดแย้งรอบใหม่และสิ้นเปลืองงบประมาณทำประชามติ โดยสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแทน

อาทิ พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ ส.ว.อภิปรายว่า ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ การให้มี ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการทรยศต่อ 16.8 ล้านเสียงที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และยังสิ้นเปลืองงบ 2 หมื่นล้านบาทในการทำประชามติ แทนที่จะเอาเงินไปซื้อวัคซีนโควิด-19 ไม่รู้คิดถึงคนไทยหรือคิดถึงวาระซ่อนเร้นของตัวเอง ดังนั้นควรแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตราจะเหมาะสมกว่า ตนยินดีที่จะสนับสนุนการแก้ไขรายมาตรา เรื่องให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ

“น้องวิษณุ”ลั่นพร้อมลาออก

ส่วน พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว.อภิปรายว่ามองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกก่อนที่จะมีการลงมติรับหลักการ และครั้งที่สองทำหลังจาก ส.ส.ร.ยกร่างเสร็จ ยืนยันว่าตนไม่ขัดข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายในอาณัติของใคร เคารพเสียงของประชาชนโดยที่ไม่ขัดกฎหมาย เพราะเมื่อครั้งปี 2555 ที่มีการยื่นแก้ไข มาตรา 291 ในรัฐธรรมนูญ 2550 มีผู้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ในที่สุดศาลวินิจฉัยว่า การแก้ไขทั้งฉบับควรผ่านการทำประชามติจากประชาชน เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะมีคนยื่นให้ศาลตีความเหมือนปี 2555 แน่นอน

“โดยส่วนตัว ถ้าผมขัดข้องหมองใจหนักๆ ก็ยินดีลาออกจาก ส.ว.เพื่อยึดหลักกฎหมายที่ถูกต้อง” 

พล.อ.ต.เฉลิมชัย กล่าว

วันเดียวกันนายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรครวมพลังประชาชาติไทยยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเพื่อแสดงจุดยืนของ ส.ส.พรรค จำนวน5 คน ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

“ปารีณา-ศรีนวล”ไม่หลุดส.ส.

วันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยกรณี นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ผลักดันให้เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ตรวจสอบที่ดินของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไม่เป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็น ส.ส.กระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซง ในเรื่องการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงาน 

เนื่องจากเห็นว่าเป็นเพียงการติดตามเรื่องร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ อ.จอมบึง พื้นที่ในเขตของตนเอง การดำนเนินการดังกล่าวจึงไม่ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา101(7)ประกอบมาตรา185 (1)

เช่นเดียวกับกรณีที่ นางสาวศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคภูมิใจไทย ที่เข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกุลรองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ที่ทำเนียบรัฐบาล และมอบหนังสือแจ้งปัญหาเรื่องที่พักของเจ้าหน้าที่ร.พ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่ไม่ปรากฏพฤติการณ์เข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใดๆ จึงไม่เข้าข่ายสิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.