ส่งออกไทย ส.ค. 63 หดตัวน้อยกว่าที่คาดที่ -7.9%...อย่างไรก็ดี ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงสูง

ส่งออกไทย ส.ค. 63 หดตัวน้อยกว่าที่คาดที่ -7.9%...อย่างไรก็ดี ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงสูง

ส่งออกไทยในเดือนส.ค. 2563 อยู่ที่ 20,212.3 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 7.9 YoY ส่งผลให้ 8 เดือนแรกการส่งออกไทยหดตัวร้อยละ 7.8 YoY

อย่างไรก็ดี หากหักสินค้าเกี่ยวกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธฯ การส่งออกไทยเดือนส.ค. 2563 จะหดตัวที่ร้อยละ 14.1 YoY ซึ่งเป็นอัตราที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ 13.0 YoY โดยการส่งออกทองคำขยายตัวอย่างมากในเดือนส.ค. ที่ร้อยละ 71.5 YoY ขณะที่ในภาพรวม สินค้าประเภทอื่นทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถยนต์ เครื่องจักรกล เหล็ก แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าว และน้ำตาลทราย ในขณะที่สินค้าที่การส่งออกยังคงขยายตัวได้ดียังคงเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (work from home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด รวมถึงอาหารบางประเภท อาทิ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง ตู้เย็น ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

- หากพิจารณารายตลาดส่งออกของไทย พบว่า สหรัฐฯ เป็นเพียงตลาดหลักตลาดเดียวที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเป็นบวกในเดือนส.ค. 2563 ที่ร้อยละ 15.2 YoY แต่ก็เติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋อง เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ ขณะที่การส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักอื่นๆ ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกไทยไปยังจีนหดตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.0 YoY ในเดือนส.ค. 2563 อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ในจีนยังคงอ่อนแรง แม้ว่าเศรษฐกิจจีนโดยรวมจะมีการฟื้นตัว ประกอบได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย โดยสินค้าส่งออกที่หดตัวสูง ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ยางพารา รถยนต์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น

- แม้ว่าใน 8 เดือนแรก การส่งออกไทยหดตัวน้อยกว่าที่ประเมิน แต่ทิศทางการส่งออกไทยปี 2563 ยังเผชิญสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงสูง ประกอบกับทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนอย่างมาก โดยสถานการณ์แพร่ระบาดยังคงมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดซ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเข้าใกล้ฤดูหนาว ซึ่งในขณะนี้หลายประเทศในยุโรปก็เผชิญการแพร่ระบาดระลอกสองซึ่งดูเหมือนจะรุนแรงกว่าในรอบแรก ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลต่อการนามาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ นอกจากนี้ ประเด็นเบร็กซิท ที่มีแนวโน้มสูงว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงในวันที่ 1 ม.ค. 2564 จะสร้างความผันผวนแก่ตลาดเงินโลก ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มที่จะยกระดับความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลกและเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ดังนั้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของเศรษฐกิจโลก การส่งออกไทยน่าจะยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์โลกที่มีแนวโน้มอ่อนแรงอยู่ ขณะที่การส่งออกทองคำ จะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไทยมีความผันผวน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงติดตาม
สถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยในระหว่างนี้ยังคงประมาณการการส่งออกไทยปี 2563 หดตัวที่ร้อยละ 12.0 ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกไทยในปีนี้จะหดตัวต่ำ กว่าที่ประเมินไว้ดังกล่าว