กรมชลฯ ร่วมขับเคลื่อน 'ไทยไปด้วยกัน'

กรมชลฯ ร่วมขับเคลื่อน 'ไทยไปด้วยกัน'

"เฉลิมชัย" ติดตามการดำเนินการ "ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน" ระดับพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี พัฒนาแหล่งน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามการดำเนินการตามแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ณ ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี ว่า ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์และแนวทางการแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและปัญหาด้านอื่น ๆ ของจังหวัดเพชรบุรี โดยสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ ได้มีการรายงานผลผลิตภาคการเกษตรตกต่ำจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานถึงแนวทางการแก้ปัญหาราคากุ้งและราคาปลากะพงตกต่ำ เนื่องจากตลาดต่างประเทศไม่มีคำสั่งซื้อหรือซื้อน้อยลง จึงเกิดภาวะล้นตลาดทำให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรมีรายได้ลดลง จึงได้มีแนวทางในการแก้ไข 

โดยกรมประมงได้วางแผนร่วมกับชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาราคากุ้งขาว และจัดทำโครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดกุ้งทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ปี 2561 - 2564 โดยช่วยเหลือลูกพันธุ์กุ้งไม่เกิน 40,000 บาท/ราย และสำหรับการดำเนินการของผลผลิตปลากะพง สำนักงานประมงจังหวัดได้ประสานกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในการหาแหล่งรับซื้อผลผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร "เกลือทะเล (เกลือสมุทร)" โดยปัจจุบันมีพื้นที่ทำนาเกลือ81,485 ไร่ โดยจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่ 29,000 หรือร้อยละ 47 โดยปัญหาในขณะนี้คือมีการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศ และถูกเกลือสินเธาว์ตีตลาด เนื่องจากมีราคาถูกกว่าและการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง "เกลือบริโภค" ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีการตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และมีการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ข้อมูลด้านการเกษตรของจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่เกษตรกรรม 882,695 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.69 ของพื้นที่ทั้งหมดแบ่งเป็น ปลูกข้าว 315,828 ไร่ พืชไร่ 236,363 ไร่ พืชสวน 209,485 ไร่ และการเกษตรอื่น ๆ 121,019 ไร่ โดยมีพื้นที่ชลประทาน656,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 64.00 ของพื้นที่เกษตรกรรม โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 264 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างรวมกัน สำหรับการเพาะปลูกพืชฤดูฝนของจังหวัดเพชรบุรี ปี 2563/2564 กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน มีแผนการเพาะปลูกทั้งสิ้น 158,320 ไร่ แบ่งออกเป็นในเขตพื้นที่ชลประทาน 129,670 ไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 28,650 ไร่ ปัจจุบันทำการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 44,782 ไร่

"นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชน จึงมีแนวทางให้ตัวแทนของรัฐบาลมารับฟังปัญหาด้วยตัวเอง เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งในวันนี้จะรับข้อเสนอทุกข้อ เพื่อรวบรวมประเด็นต่าง ๆ ทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป ส่วนไหนที่สามารถดำเนินการแก้ไขได้จะดำเนินการแก้ไขในทันที นอกจากนี้ ได้มอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัด ให้บูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ต้องรับฟังและรู้ปัญหาที่แท้จริงจะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด อีกทั้งต้องมีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ต่อประชาชน มีการส่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลมีระบบการป้องกันเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งวิกฤตในครั้งนี้ต้องทำให้เป็นโอกาสให้ได้ จึงได้มีมาตรการในเชิงรุก และอยากให้ทุกภาคส่วนยังคงดำเนินตามมาตรการที่เข้มงวดต่อไป" นายเฉลิมชัย กล่าว