เปิดพอร์ต ‘ประกันสังคม’ พิษโควิดทุบมูลค่าวูบ 14%

เปิดพอร์ต ‘ประกันสังคม’  พิษโควิดทุบมูลค่าวูบ 14%

กองทุนประกันสังคมถือเป็นหนึ่งในนักลงทุนสถาบันที่มีบทบาทสำคัญรายหนึ่งต่อตลาดหุ้นไทย ด้วยมูลค่าพอร์ตลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท ปัจจุบันกระจายถือครองหุ้นทั้งหมด 69 บริษัท (อิงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ วันปิดสมุดทะเบียนล่าสุดของแต่ละบริษัท)

มูลค่าพอร์ตการลงทุนรวม ณ วันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.19 แสนล้านบาท ลดลง 3.6 หมื่นล้านบาท หรือ 14.19% จากมูลค่าถือครองรวม ณ สิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 2.55 แสนล้านบาท ตามข้อมูลจากรายงานสถานการณ์บริหารเงินลงทุนกองทุนประกันสังคม

ทั้งนี้ มูลค่าพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ทั้งหมดของกองทุนประกันสังคม ณ สิ้น 30 มิ.ย. 2563 อยู่ที่ 2.11 ล้านล้านบาท น้ำหนักส่วนใหญ่ราว 68.8% ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล โดยพอร์ตลงทุนในหุ้นไทยคิดเป็น 12.09% ของมูลค่าพอร์ตลงทุนรวม ซึ่งกองทุนมีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์มั่นคงสูง 80% และสินทรัพย์เสี่ยง 20%

อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนที่รับรู้แล้ว (Realized gain) ของกองทุนประกันสังคมสำหรับครึ่งปีแรกของปี 2563 อยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและกำไรจากการขายตราสารหนี้ และค่าธรรมเนียมการให้ยืมหลักทรัพย์ 2.12 หมื่นล้านบาท และผลตอบแทนจากเงินปันผลและกำไรจากการขายตราสารทุนและหน่วยลงทุนอีก 2.78 พันล้านบาท

สำหรับหุ้นหลักในพอร์ตซึ่งมีน้ำหนักการลงทุนมากสุด 5 อันดับแรก ยังคงเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่นักลงทุนคุ้นชื่อกันดี ไล่เรียงมาตั้งแต่ บมจ.ปตท. (PTT) ในสัดส่วน 8.08% ของพอร์ต คิดเป็นมูลค่า 1.91 หมื่นล้านบาท บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) สัดส่วน 7.76% มูลค่า 1.83 หมื่นล้านบาท บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) สัดส่วน 6.16% มูลค่า 1.45 หมื่นล้านบาท บมจ.ซีพีออลล์ (CPALL) สัดส่วน 5.45% มูลค่า 1.29 หมื่นล้านบาท และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) สัดส่วน 5.25% มูลค่า 1.24 หมื่นล้านบาท

160104111955

ขณะเดียวกัน พบว่ากองทุนประกันสังคมได้เข้าซื้อหุ้นใหม่ที่ไม่ได้ถือครองมาก่อนเมื่อปี 2562 จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) บมจ.ช.การช่าง (CK) บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNREIT) คิดเป็นมูลค่ารวม 5.57 พันล้านบาท

โดยภาพรวมจะเห็นว่า การลงทุนในหุ้นของกองทุนประกันสังคมโดยส่วนใหญ่ยังคงเน้นที่การลงทุนในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การกระจายการลงทุนไปยังตราสารทุนต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนราว 3.28%

ภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า มูลค่าพอร์ตลงทุนของกองทุนประกันสังคมที่ลดลงส่วนหนึ่ง น่าจะได้รับผลกระทบจากการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ว่างงานซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กองทุนต้องขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป

อย่างไรก็ตาม อีกส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามูลค่าของหุ้นไทยยังค่อนข้างแพง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นต่างประเทศ แม้แต่หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งปัจจุบันถือว่าค่อนข้างต่ำ แต่เมื่อเทียบกับหุ้นอสังหาริมทรัพย์ในจีน ก็ยังถูกกว่าไทย เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มค้าปลีกในไต้หวัน ปัจจุบันก็ซื้อขายด้วยค่า P/E ไม่ถึง 20 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มค้าปลีกของไทย

“โดยส่วนตัวมองว่า สัดส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่ระดับประมาณ 3% ยังถือว่าต่ำ ด้วยโอกาสของการลงทุนต่างประเทศที่เปิดกว้างมากขึ้น แต่ปัญหาคือทีมงานที่จะเข้ามาติดตาม และบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งหากจะตั้งทีมขึ้นมาโดยเฉพาะ อาจจะใช้เวลาค่อนข้างนาน อย่างในมาเลเซีย ใช้เวลา 5-10 ปี สำหรับตั้งทีมเพื่อจะกระจายการลงทุนในต่างประเทศ”

ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศหรือไม่นั้น คงขึ้นกับมุมมองต่อการลงทุนในประเทศ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงเทียบกับผลตอบแทนที่คาดหวัง ซึ่งบางกองทุนที่ตัดสินใจไปลงต่างประเทศ อาจจะเลือกใช้การไปลงทุนผ่านกองทุนอื่นอีกทอดหนึ่ง (Feeder fund) ซึ่งก็จะแลกมาด้วยค่าธรรมเนียม รวมถึงการประเมินความเสี่ยงในเรื่องของค่าเงินด้วย