กองทุนปรับพอร์ตรอซื้อหุ้นSCGP

กองทุนปรับพอร์ตรอซื้อหุ้นSCGP

‘เอสซีจี แพคเกจจิ้ง’ จ่อขายหุ้นไอพีโอระดมทุนราว 4.5 หมื่นล้านบาท หลังเคาะช่วงราคา 33.5 – 35 บาท ผู้บริหารชูจุดเด่นผลประกอบการโตสม่ำเสมอ ด้านผู้บริหารบลจ.ประเมินอาจเห็นกองทุนขายหุ้นบางส่วนสมทบทุนซื้อไอพีโอ

บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) หนึ่งในบริษัทย่อยของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เตรียมพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะเสนอขายหุ้นไอพีโอ ไม่เกิน 1,127.6 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.5% ของหุ้นทั้งหมด และอาจจะมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over Allotment) อีก 169.1 ล้านหุ้น 

โดยหากบริษัทสามารถขายหุ้นทั้งหมดจะคิดเป็นมูลค่าการระดมทุนราว 4.5 หมื่นล้านบาท จากการกำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นที่ 33.5 – 35 บาท คิดเป็น P/E ราว 23 เท่า และเตรียมเปิดให้จองซื้อระหว่างวันที่ 28 ก.ย. – 7 ต.ค. นี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของผู้จองซื้อ

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SCGP เปิดเผยว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ใช้เป็นเงินลงทุนขยายธุรกิจเดิมและซื้อธุรกิจใหม่ รวม 2.7 หมื่นล้านบาท ในเบื้องต้นจะใช้เงินรวม 8.2 พันล้านบาท สำหรับขยายกำลังการผลิตใน 4 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ส่วนที่เหลือจะพิจารณาใช้เงินภายในปี 2566 ส่วนถัดมาจะใช้คืนหนี้เงินกู้สถาบันการเงินราว 1 – 1.3 หมื่นล้านบาท และส่วนที่เหลืออีกไม่เกิน 4.5 พันล้านบาท จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

“การระดมทุนในครั้งนี้จะช่วยปลดล็อกการเติบโตให้กับ SCGP ด้วยโอกาสจากการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะ 5 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย"

ด้าน นายกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงินของ SCGP เปิดเผยว่า จุดเด่นของ SCGP คือเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่พอประมาณ โดยหลังจากขายหุ้นไอพีโอแล้วน่าจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดราว 1.4 แสนล้านบาท และน่าจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มหุ้น SET50 ได้เลย 

นอกจากนี้บริษัทยังมีจุดเด่นเรื่องของความผันผวนของผลประกอบการที่ค่อนข้างต่ำ โดยยอดขายในช่วงปี 2559 – 2562 ของบริษัทเติบโตเฉลี่ย 6.1% ต่อปี มาเป็น 8.9 หมื่นล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรกของปี 2563 ยอดขายเติบโต 10.5% ทำได้ 4.59 หมื่นล้านบาท

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่กองทุนจะขายหุ้นบางส่วนเพื่อระดมเงินมาซื้อ SCGP เพราะธุรกิจของ SCGP อยู่ในช่วงของการเติบโตชัดเจน โดยหนึ่งในหุ้นที่อาจจะถูกขายเพื่อระดมทุนมาซื้อหุ้น SCGP คือบมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เนื่องจากเป็นหุ้นที่กองทุนถือครองอยู่ค่อนข้างมาก

สำหรับนักลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone และได้สิทธิจองซื้อหุ้น SCGP มี 16 ราย รวมทั้งสิ้น 600 ล้านหุ้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดรวมถึง 2.1 หมื่นล้านบาท